วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ / Verapong Sritrakulkitjakarn

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

เลียน - รู้


Woodcut / 2011
150 x 115 cm.




บทความนิทรรศการ SEE - FOOD / สุวิทย์ มาประจวบ(ราฮวม) วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ)

ซี – ฟู๊ด
                หากการมองเป็นหน้าต่างของความคิด  ภาพที่เราเห็นเด็กในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างรวดเร็วทันใจ และสำเร็จรูปอย่างปัจจุบัน  วัยเด็กที่เป็นวัยที่น่ารักและเปี่ยมด้วยจินตนาการ  แต่ถูกสื่อต่างๆมาครอบงำอยู่ตลอดเวลา  บทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นด้วยเนื้อหาการใช้ชีวิตแบบทุนนิยมถูกขับกล่อมอยู่ตลอด  เครื่องมือสื่อสารทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยแพร่กระจายทั่วบ้านเมือง  ความบันเทิงที่หากินกับเรื่องส่วนตัว  ก็อสซิป และหนังสือแฟชั่นแนวสตีทได้กลายเป็นคู่มือการใช้ชีวิต  นั้นไม่ผิดหากปฎิบัติตนอยู่บนพื้นฐานคุณธรรมและจริยธรรม  สื่อต่างๆก่อให้เด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่เกินวัย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักถูกแสดงให้เห็นได้จากคลิปวีดีโอต่างๆที่สามารถหาดูได้ทั่วไป
                ซี – ฟู๊ด เป็นนิทรรศการที่ข้าพเจ้ามองเห็นผลของสื่อที่เปรียบเหมือนอาหารที่เด็กต้องกินทุกวัน  ผลของการบริโภคสื่อเหล่านั้นทำให้จิตใจก้าวร้าวและมีพลังต่อพฤติกรรมของเด็ก ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ข้าพเจ้าแสดงให้เห็นถึงปัญหาของเด็กในวัยกำลังศึกษาที่มีความไร้เดียงสาด้วยสีสันอันสดใสแต่แฝงเร้นไว้ด้วยภาวะแห่งความสับสน ของเด็กที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป
                                                                                                                                                สุวิทย์  มาประจวบ    (ราฮวม)
               

บทความนิทรรศการ SEE - FOOD / สุวิทย์ มาประจวบ(ราฮวม) วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ)


พบ – เห็น
อายิโน๊ะ
                นับจากวันนั้นที่ผมเริ่มวาดรูป  เรื่องราวที่พบเจอได้ก่อร่างตัวผมขึ้นมา  จุดเปลี่ยนสำคัญอันหนึ่งในชีวิตผมเกิดขึ้นเมื่อปี 2544  เป็นปีที่ความฝันความตั้งใจอันหนึ่งในชีวิตผมเกิดเป็นจริงขึ้นมา สิ่งนั้นคือการได้เข้ามาเรียนที่คณะจิตรกรรมฯมหาวิทยาลัยศิลปากร  นับจากตอนนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตผม  สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการพบเจอ  การพบที่เกิดจากสถานที่และจุดรวมฝันอันเดียวกัน  บางครั้งมานึกย้อนดูก็แปลกใจว่าเรื่องราวชีวิตของผมนำพาผมจนมาเป็นอย่างตอนนี้ได้อย่างไร  ผมค่อนข้างโชคดีที่ได้โอกาสและสิ่งต่างๆเป็นกำลังใจสร้างให้มีความมั่นใจในสิ่งที่ทำ  แต่ก่อนนั้นผมแทบจะไม่กล้าที่จะฝันไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันจะนำพาเราไปได้หรือเปล่า  แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรผมก็จะทำต่อไปไม่ใช้เพื่อความฝันแต่เพื่อชีวิต ผมเกิดมาก็ทำอะไรไม่เป็นไม่ดีซักอย่าง  มีแค่สิ่งนี้สิ่งเดียวที่ผมพอจะทำได้และมันเป็นสิ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองพอจะมีคุณค่าบ้าง  ผมเคยประสบกับช่วงหนึ่งที่แทบไม่ได้ทำงานอย่างจริงจังมันทำให้ผมมีแต่ความสับสนและเคว้งคว้างรู้สึกไร้ค่า  ผมจึงรู้ว่าผมต้องทำ ทำเพื่อทำ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเอง  มันคือความสุขแปลกๆที่เกิดขึ้น  อาจารย์เจนิส เคยพูดในวิชา สุนทรียศาสตร์ว่า “คนดูหนังดูละครมักร้องไห้  แต่ไม่เคยเห็นคนดูงานศิลปะแล้วร้องไห้” คำพูดนั้นผมจำได้ดี และผมต้องรู้ให้ได้ว่าเพราะอะไร  ตอนนี้ไม่รู้ว่าผมรู้หรือยัง  แต่ผมว่าผมพอจะรู้สึกได้  ซึ่งความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นจากขณะทำงาน  ผมคิดว่าเราต้องรู้จากการทำ ทำจนเห็น  เห็นในสิ่งที่ไม่อาจแทนค่าด้วยตัวอักษรหรือภาษาใดๆได้  มันไม่ใช่การการตีความแปลค่าใดๆหรือจำจากสิ่งที่อ่าน ฟัง มา  แต่มันต้องรู้เองจากการทำ และเมื่อการทำนั้นได้มอบคุณค่าให้กับเราแล้ว  เราควรมอบมันให้กับผู้อื่นต่อ  สิ่งต่างๆจะไร้ค่าถ้าขาดผู้รับ สถานีวิทยุจะไร้ค่าถ้าโลกนี้ไม่มีวิทยุ  ผมคิดว่าทุกสิ่งมีค่าเท่ากันแต่สังคมเรามักจะจัดชนชั้นของสิ่งต่างๆ หลอกผู้อื่นเพื่อเพิ่มค่าให้กับตนเอง  แต่ผมคิดว่าค่าที่แท้นั้นวัดจากสิ่งที่เราทำ  และการทำนั้นเพื่อผู้อื่นให้ได้มากที่สุด  ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจะมีคุณค่าหรือยัง  แต่ผมจะทำ ทำต่อไป
 ผมโชคดีที่มักจะได้รับแรงใจจากอดีตมากกว่าคนอื่น  เรื่องราวอดีตที่บอกกล่าว หยาดเหงื่อที่เคยหยดลงบนงาน ลมหายใจที่ยังคงอยู่บนโลก  เมื่อไม่นานมานี้ผมเคยทำหนังสือ “จดหมายถึงอาจารย์ศิลป์” กับเพื่อน  และตอนนี้จดหมายตอบกลับมาแล้ว  เรื่องราวที่มีในจดหมายนั้นผมจะจำไว้  และช่วยตอบความรู้สึกของผมได้  เหมือนป้ายบอกทาง คำๆนั้นช่างเต็มไปด้วยแรงใจและความมุ่งมั่นของอาจารย์  ขอบคุณครับอาจารย์ที่ช่วยแนะนำและให้กำลังใจผม


บทความนิทรรศการ SEE - FOOD / สุวิทย์ มาประจวบ(ราฮวม) วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโน๊ะ)

เรื่องเล่าของโน๊ะกับฮวม
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ (อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม)

อายิโน๊ะ (วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ) กับราฮวม (สุวิทย์ มาประจวบ) เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของผมที่คณะจิตรกรรมฯ[1] เพื่อนทั้งสองของผมมีความโดดเด่นตั้งแต่เมื่อแรกเข้ามาแฟรชชี่[2]ด้วยกัน พวกเขามักมีผลงานในตอนเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าหลายๆ คน ด้านหนึ่งเขาทั้งสองเหมือนกันตรงความโดดเด่นตั้งแต่เมื่อตอนซ่อมน้อง[3] ด้านหนึ่งในขณะที่อายิโน๊ะฝักใฝ่และหันหน้าให้กับการสร้างสรรค์แบบอะคาเดมิก (Academic)[4] แต่ราฮวมกลับมีนิสัยที่คิดค้นให้พ้นกรอบอยู่ตลอด ถึงกระนั้นทั้งคู่ดูจะมีไฟคุกรุ่นในการสร้างสรรค์ตลอดเวลาทั้งในห้องเรียนและในวงเมรัย
            อายิโน๊ะเปลี่ยนตัวเองจากตี๋น้อยฝั่งธน (บุรี) มาเป็นไอ้หนุ่มผมยาวละแวกถนนหน้าพระลานที่ดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่มาก ความพึงพอใจต่อความเท่ของบรรดาสาวๆ เป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่สมัยเรียน ยิ่งตอนที่เขาทำงานอยู่ที่ห้องภาพพิมพ์วู๊ดคัท (Wood cut)[5] มักมีของฝากทั้งขนมและที่ระลึกจากสาวๆ มาเป็นกำลังใจมากมาย เรียกได้ว่าหัวกระไดห้องวู๊ดคัท ไม่แห้งเสียทีเดียว แต่เขาก็ไม่เคยที่จะตกลงปลงใจกับใครเลย (ซึ่งก็เป็นที่หงุดหงิด อิจฉา และตลกของเพื่อนๆถึงพฤษติกรรมแบบนี้ของเขา) แต่ใครเล่าจะรู้ว่าตอนปีหนึ่งผมเกรียนเขาเคยแอบชอบสาวคณะโบราณอนงค์หนึ่งที่อรชรยิ่งนัก ทว่าได้แต่เพียงด้อมๆ มองๆ ยืนๆ เฝ้าๆ อยู่เป็นระยะๆ สนทนากันบ้างเล็กน้อย แต่สุดท้ายเรื่องราวก็จบลงตรงที่พระเอกของเราไม่ชนะใจสาวเจ้า ก็เป็นว่าบทแรกแห่งการรู้จักก็ลางเลือนกันไป ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่าในยามสนทยาของหนุ่มผมยาวถนนหน้าพระลานของเราเท่านั้น
            แรกเริ่มเดิมทีนั้นเพื่อนของผมคนนี้ไม่ได้รับการตอบรับในผลงานชุดแรกๆ สักเท่าใด เรียกว่าส่งงานเอาสูจิบัตรกันเลยดีกว่า (คือส่งประกวดแล้วคัดออกแต่ได้รับสูจิบัตรงานเปิดนิทรรศการ) ต่อมาเมื่อระยะเวลาฟักตัวได้ถึงกาลเวลาของมันเอง อายิโน๊ะก็ได้รางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ ประเภทภาพพิมพ์ เป็นคนแรกในรุ่นของเรา[6] ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปี 5 ผมจำได้ว่าขณะที่ได้รับข่าวว่าได้รางวัลนั้น ทั้งอายิโน๊ะ ราฮวม ผม และเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ คณะจิตรกรรมฯ กำลังนั่งรถบัสกลับจากมิ้ตติ้ง[7]ในอาการกึ่งแฮ้งค์โอเวอร์ (Hangover) หลังจากกลับมาถึงที่คณะจิตรกรรมฯ ผมเห็นเขาเข้าไปกราบพื้นตรงฐานอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์[8]ที่หน้าคณะด้วยความปีติ และพวกเราจบกิจกรรมวันนั้นด้วยร้านอาหารละแวกหน้าพระลานเพื่อดื่มเมรัยแสดงความยินดีต่ออายิโน๊ะพร้อมผองเพื่อนในรุ่นที่มากมาย
            ส่วนราฮวมนั้นในช่วงซ่อมเขาแสดงออกถึงความตลกขบขันดูเป็นสัญลักษณ์ของเสียงหัวเราะ แต่เมื่อสัมผัสเข้าจริงๆผมเห็นเขาเป็นอัจฉริยะทางไอเดีย (Idea)เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าเขาจะมีชั้นเชิงการสร้างสรรค์แบบงาน 3 มิติที่ดีเยี่ยม (โดยเฉพาะเรื่องการใช้วัสดุที่แปลกจากประติมากรคนอื่น เช่น เทคนิคกระดาษ แผ่นเหล็กจากถังน้ำมัน เทคนิคทำให้ผลงานเคลื่อนไหวได้ เป็นต้น) แต่การผลิตผลงานจิตรกรรมก็มีฝีมือในระดับที่ดีเยี่ยมทีเดียว เพื่อนผมคนนี้เป็นคนโดดเด่นมากในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในวิชาคอมโพสฯ[9]เขามักจะสร้างผลงานนอกลู่นอกทางอย่างน่าสนใจและเป็นที่ชื่นชมจากครูบาอาจารย์ที่สอนอยู่เสมอๆ จริงๆ แล้วราฮวมส่งผลงานและได้รางวัลมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นรายการเล็กหรือใหญ่เพียงไหน เขามักจะพยายามที่จะส่งเพื่อผลักดันให้ตัวเองไปตามจุดหมายที่วางไว้ เขาเคยบอกกับผมในช่วงหนึ่งสมัยเรียนว่าอยากได้เกียรตินิยม ซึ่งขณะนั้นเกรดเฉลี่ยของเขายังไม่ถึง แต่อีกเพียงหนึ่งปีเมื่อเขารับปริญญาตรีเขาก็ทำได้ในสิ่งที่เคยพูดไว้
            ความมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรตามแบบฉบับชายหนุ่มจากที่ราบสูงของราฮวมเป็นที่เห็นได้ชัดจากผลงานในช่วงเรียนที่ดีเยี่ยมและรางวัลจากการประกวดมากมาย ตราบจวบจนผลงานประติมากรรมเหล็กรูปทรงคล้ายตัวตั๊กแตนอันเป็นที่ฮือฮามากสำหรับเพื่อนในรุ่น ทุกๆ คนต่างทายเป็นเสียงเดียวกันว่า ราฮวมต้องได้รางวัลใดรางวัลหนึ่งเป็นแน่ และเขาก็ไม่ทำให้คำทำนายของเพื่อนๆ ต้องเป็นหมัน ผลงานชิ้นนี้มีชื่อเท่ๆ เก๋ๆ ว่า “บทสนทนาแห่งการเดินทาง” ได้รับรางวัลที่ 1 จากเวทีประกวด Yong Thai Artist Award ถือเป็นการเปิดตัวเองให้วงการได้ประจักษ์ถึงความสามารถของเขา และปีต่อๆ มาเขาก็ได้รางวัลเหรียญทอง ประเภทประติมากรรม จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งถือว่าราฮวมมีความประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะรางวัลแรกเป็นรางวัลของนักศึกษาศิลปะต้องแข่งเฉพาะนักศึกษาด้วยกัน ส่วนอีกรางวัลเป็นรางวัลระดับชาติต้องแข่งกับศิลปินทั่วประเทศ ซึ่งนับว่ายากกว่าการประกวดครั้งแรก แค่รางวัลทั้งสองเวทีผมว่าราฮวมเป็นศิลปินที่น่าจับตามองทีเดียวในยุคนี้
อีกเรื่องหนึ่งของเพื่อนทั้งสองของผมที่อยากจะเล่า คือ พวกเขามีความใส่ใจกับ เสื้อ ผ้า หน้า ผม รองเท้า เข็มขัด เครื่องแต่งกาย และภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าคนรอบข้างหรือคนอื่นๆ จะมองการแต่งตัวของทั้งสองมีสไตล์แบบไหน แต่ในหมู่เพื่อนๆ จะรู้กันดีว่า ทั้งคู่จะเลือกสรรหาอาภรณ์ของตัวเองให้ลงตัวที่สุด ดูมีสไตล์ที่สุด ถ้าไม่นับเวลาที่พวกเขาทำงานศิลปะแล้ว น้อยครั้งเต็มทีที่เวลาปรากฏตัวต่อสาธารณะแล้วเขาทั้งสองจะมีภาพลักษณ์ของอาภรณ์ที่ไม่น่าดู
ในเรื่องความชอบส่วนตัวนั้นผมมองว่าราฮวมมักมีความสุขกับเรื่องเสียงเพลงร่วมสมัย วัยรุ่น แฟชั่น ข่าวดารา เครื่องแต่งกายดีๆ สถานที่เท่ๆ ดูดีมีสไตล์เก๋ๆ แต่อายิโน๊ะมักมีความสุขเมื่อฟังเพลงเก่าแบบซึ้งๆ ในยุคต่างๆ และด้วยความชอบเรื่องเก่าๆ โบราณๆ แม้จะเดินท่องท่ามกลางซากอิฐโบราณสถานอยู่กลางแดดเขาก็พึงพอใจอย่างนั้น
ในเรื่องการร่ำรสเมรัยของทั้งคู่เป็นสิ่งที่อดจะเล่าถึงไม่ได้ เพราะทั้งคู่ก็มีสไตล์การกินดื่มที่ต่างกัน ในขณะที่อายิโน๊ะมักเริ่มต้นการดื่มไปอย่างแช่มช้าและเนิบนาบ (เป็นส่วนใหญ่นะครับ ส่วนที่ดุดันก็มีแต่น้อยครั้ง) และมักมีประเด็นในวงสนทนาในเรื่องต่างๆ รอบตัวอย่างจริงจัง นับตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับสมัยที่ยังเรียนอยู่ที่คณะจิตรกรรมฯ เรื่องอาจารย์ศิลป์ ศิลปินรุ่นเก่าๆ ศิลปะ การเมือง ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งความรัก บทสนทนาที่ดูจริงจังแต่บางคราวก็สนุกสนาน และเมื่อดีกรีของฤทธาแห่งเมรัยทำให้ใบหน้าของเขาแดงระเรื่อๆ แล้ว บทสนทนาอันเผ็ดร้อนและเมามันมักพรั่งพรูออกจากศิลปินหนุ่มผมยาวคนนี้ราวคนละคนกับบุคลิกเคร่งครัดในยามเป็นปกติ
สไตล์ของราฮวมในการร่ำเมรัยนับว่าต่างจากอายิโน๊ะพอสมพอควร เขามักเริ่มดื่มอย่างเมามันสนุกสนานและยิ่งสนุกมากขึ้นๆ (หากแต่เมื่อประเด็นเคร่งเครียดขึ้นมาเจ้าหนุ่มคมขำของผมคนนี้เผ็ดร้อนเสียยิ่งกว่าพริกขี้หนูสวนเสียอีกนะครับ) เขามักดื่มอย่างรื่นเริง เฮฮาสนุกสนานพร้อมกับคลอเสียงเพลงอย่างสบายอารมณ์ ยิ่งหากมีกีตาร์อยู่ในกำมือแล้ว เพื่อนๆ ทั้งหลายสามารถขอเสียงเพลงได้ดั่งคาราโอเกะเป็นหมื่นๆ บทเพลง เขาจะเล่นอย่างร้อนแรงราวกับคอนเสิร์ตวู๊ดสต๊อก (Woodstock) ทีเดียว และแน่นอนสมนาคุณของการขอเพลงก็คือ เสียงร้องอย่างเอาจริงเอาจังของราฮวมนั้นเอง ซึ่งหากในวงนั้นปรากฏอายิโน๊ะด้วยแล้ว เราจะได้ยินการบรรเลงสรรพเสียงของทั้งคู่อย่างเอาจริงเอาจังและเอร็ดอร่อยที่สุดเท่าที่จะหาฟังได้ในวงเมรัยแห่งมิตรภาพ
เรื่องเล่าของอายิโน๊ะและราฮวมยังมีอีกมากมายหลายหลายบทบาท ทั้งการเป็นศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ อาจารย์สอนศิลปะ บทบาทในครอบครัว (บทบาทของคนรักผมก็มิอาจรู้ได้ว่าทั้งสองได้แอบคบใครอยู่หรือเปล่าคงต้องเชิญคุณๆ ช่วยสืบด้วยอีกแรงครับ) แต่บทบาทที่สำคัญของทั้งสองคือการที่พวกเขาตัดสินใจก้าวสู่ความเป็นศิลปินที่ขยัน เป็นนักศิลปะที่เต็มไปด้วยอุดมคติ เป็นคนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ดีเยี่ยม และพร้อมที่จะเดินทางไปในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยซึ่งโรยด้วยหนามอันแข็งกร้าวมากกว่ากลีบของกุหลาบอันอ่อนนุ่มและหอมหวน
สุดท้ายแล้วผมขอบอกตามตรงว่าภูมิใจจริงๆ ที่เห็นเพื่อนทั้งคู่ของผมแสดงนิทรรศการศิลปะด้วยกัน ดีใจจริงๆ ที่มีโอกาสได้เขียนความรู้สึกและเล่าอะไรๆ ให้คุณๆ ได้อ่าน ที่สำคัญแล้วผมไม่รู้สึกว่าพวกเขาเป็นศิลปิน เป็นคนดัง เป็นคนสำคัญอย่างไร ผมสนใจแค่ว่าโชคดีที่พวกเราได้มาเป็นเพื่อนกัน พร้อมๆ กับเพื่อนๆ อีกมากมายในรุ่น (คณะจิตรกรรมฯ) ของพวกเรา.




[1] คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 58
[2] น้องใหม่ปี 1
[3] กิจกรรมรับน้องใหม่อันเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่คณะมาอย่างยาวนาน
[4] ศิลปะตามแบบแผนดั้งเดิม เช่น วิชาวาดเส้น กายวิภาค ทฤษฎีศิลป์ ประวัติศาสตร์ศิลป์ เป็นต้น
[5] Wood cut เป็นภาพพิมพ์ที่แกะแผ่นไม้ให้เป็นแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นเทคนิคอันเป็นเอกลักษณ์ของอายิโน๊ะมาจนถึงปัจจุบัน ห้องวู๊ดคัทที่กล่าวถึงอยู่ใกล้กับประตูเข้าออกทางฝั่งคณะโบราณคดีในปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)
[6] ผมอยากจะเล่าว่ารุ่นของผมมีเพื่อนได้รางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ ถึง 3 สาขา คือ ประเภทจิตรกรรม ประเภทประติมากรรม และ ประเภทภาพพิมพ์
[7] มิ๊ตติ๊ง (Meeting) คือ กิจกรรมรับน้องใหม่สุดท้ายของคณะจิตรกรมฯ มีการเดินทางไปทะเลต่างจังหวัดเป็นกิจกรรมที่สนุกที่สุดประจำปีของคณะ ทุกคนต่างเฝ้ารอที่จะไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว ดังมีคำที่พูดกันบ่อยๆในหมู่ศิษย์เก่าของคณะว่า “มึงจะไปมิ๊ตติ๊งป่าววะ?
[8] ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลีผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากรและบิดาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย
[9] วิชาองค์ประกอบศิลป์ (Composition) หรือเรียกกันติดปากสั้นๆว่า วิชาคอมโพสฯ เรียนเกี่ยวกับการนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างเป็นผลงานอย่างอิสระ โดยช่วงแรกต้องทำงานตามทฤษฎี แต่ต่อมาก็สามารถทำงานได้ตามอิสระ หรือตามโจทย์ที่ตั้งไว้