วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ / Verapong Sritrakulkitjakarn

วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จดหมายถึงอาจารย์ศิลป์ / บทบันทึกความรู้สึก

อยู่กับอาการปวดหลัง
____________________________________________________________
โดย: สุริยะ ฉายะเจริญ

ทุก ๆ เย็นหลังจากกลับจากที่ทำงาน ผมต้องอดทนกับอาการปวดหลังอยู่เสมอ ๆ หลังจากผ่านการนั่งทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ความปวดกลายเป็นทุกข์เวทนาประจำวันอย่างคุ้นเคย ขณะที่นั่งพิมพ์ข้อเขียนที่ท่าน ๆ กำลังอ่านอยู่นี้ ผมก็รู้สึกปวดหลังเสียเต็มตื้นจนอยากระบายเป็นถ้อยความให้ท่านทั้งหลายได้รับรู้
ผมเชื่อว่าผมเองไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ประสบกับอาการเจ็บปวดทางกายอันเนื่องจากการทำงานประจำ และยังนับ
ว่าโชคดีกว่าหลาย ๆ ท่านที่ต้องทนพิกลพิการจากอุบัติเหตุในที่ทำงาน   ที่สำคัญนอกจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ความเคร่งเครียดทางใจในการทำงาน ก็เป็นบาดแผลที่สำคัญที่คอยบั่นทอนกำลังใจในการมีชีวิตอยู่เป็นอย่างยิ่ง
สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน อาจจะพูดได้ว่าแต่ละคนควรเลือกสายงานที่ตนเองพอใจ มีความถนัดและชำนาญในงานนั้น ๆ ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง มีผู้คนมากมายที่ไม่สามารถเลือกอาชีพได้ตามที่ตนปรารถนา หลายคนต้องทนทำงานเพียงเพื่อดำรงชีวิตไปวัน ๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้ชีวิตดูโหดร้ายเหลือประดา
หลายคนที่ได้ทำงานในสิ่งที่พอใจก็นับว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่คนอีกมากมายที่ทำงานในสายงานที่ไม่ตรงกับความต้องการเดิมของตัวเองนัก ก็คงต้องปรับทั้งพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและสร้างกำลังใจให้กับตัวเองอยู่ไม่น้อย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นทุกข์และไม่สามารถดำเนินงานปัจจุบันของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการปวดหลังของผมอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรคประจำของพวกพนักงานอ็อฟฟิซที่ต้องนั่งเป็นเวลานานๆ ซึ่งการพร่ำพรรณนาทุกข์เวทนาดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้อาการปวดหายไป กลับยิ่งทำให้จิตใจพลอยเป็นทุกข์ไปเสียด้วย แน่หละถ้าเป็นไปได้ผมก็คงต้องเลือกงานที่สบาย ๆ ไม่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งทั้งวัน แต่ในเมื่อวิถีชีวิตขอผมได้ดำเนินไปเช่นนี้ ผมก็ปรับทัศนคติต่อสรรพสิ่งให้ตรงกับการดำรงอยู่ของสภาวะปัจจุบัน
ผมได้ปรับตัวเองโดยเลือกที่จะอดทนและอยู่กับอาการปวดหลังอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย บางครั้งลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้หนานุ่มบิดเนื้อบิดตัวบ้าง นั่งยืดแข้งยืดขาบ้าง สุดแท้แต่จะปวดจะเมื่อยอย่างไรก็แก้ขัดแก้ไขไปอย่างนั้น แต่ที่สำคัญทุก ๆห้วงขณะแห่งความเคลื่อนไหว เหยียดออก คู้เข้า ต้องทำความรู้สึกตัวไปด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีความพอใจในกิริยานั้นหรือไม่ มีความรู้สึกผ่อนคลายหรือไม่ และมีสติระลึกรู้กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่างผ่อนคลาย
ทุกก้าวที่ผมย่างก็พยายามระลึกรู้ถึงการก้าวเท้าขวาและก้าวเท้าซ้าย หากกำลังยืนก็ทำความรู้สึกว่าเรายืนอย่างไร หากนั่งก็รู้ว่าหลังตรงหรือไม่ ส่วนใดบ้างที่มีน้ำหนักกดทับ ปรับลมหายใจให้ช้าๆ เบาๆ ลึกๆ ยาวๆ ที่สำคัญพยายามทำใจให้เป็นกลางๆ ไม่รัก ไม่ชัง ไม่โกรธ ไม่เกลียด เห็นทุกอย่างสักแต่ว่าเป็นไปตามวิถีของมัน
อย่างไรก็ตาม ผมก็ยอมรับว่ามิได้กระทำอยู่ได้ทุกห้วงขณะ แต่ก็พยายามทำเท่าที่มีสติระลึกได้ ซึ่งการระลึกรู้ความเป็นไปของร่างกายและจิตใจนี้ พอทำไปนาน ๆ เขาก็จะรู้สึกสนุก สงบ สบาย ผ่อนคลาย แม้จะอยู่เพียงลำพังก็อยู่อย่างไม่โดดเดี่ยว หรือแม้แต่อยู่ในฝูงชนก็รู้สึกสันโดษอย่างประหลาด
ถึงกระนั้นก็มิได้ทำให้อาการปวดหลังของผมได้ลดน้อยถอยลง หลังยังคงปวดของมันอยู่อย่างนั้นเอง ผมกลายเป็นเพียงผู้ดูและผู้ระลึกรู้ว่าอาการปวดเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากแก้ด้วยการบิดเอี้ยวและออกกำลังกายแล้ว ก็ยังคงต้องออกกำลังใจให้มีจิตใจที่โปร่งเบาเสียด้วย
...อาการปวดหลังคงไม่หายไป แต่จิตใจไม่ปวดไปกับหลัง.






------------------------------------------------------------------------------------------------                               
“เรากำลังเดินตามทางที่มีแสงสว่างเล็กๆอยู่ข้างหน้า ไม่รู้ว่ามันคือทางออกหรือแค่ดวงไฟดวงหนึ่ง”
                ผู้คนดั่นด้นตามหาสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง คราดไถสิ่งที่กีกขวางทางของตน  บางครั้งข้างทางของเรามีคนที่ล้มอยู่ ข้างหลังเรามีคนที่เจ็บปวดบาดเจ็บ หรือล้มตายโดยที่เราทำได้แค่มอง และบันทึกลงไปในความทรงจำที่จะติดตัวไปจนตาย เราจะชดเชยสิ่งใดได้บ้าง
                ภาพฝันของอดีตนำพาผมให้มาสู่ที่นี่ในตอนนั้นภาพฝันและความจริงเหลื่อมกันน้อยลง โลกแห่งความนึกคิดค่อยๆเปิดออก บรรยากาศภายในไหลออกมาให้สูดดมบ้างเกิดอาการขนลุกขนพองเป็นระยะๆ อดีตปัจจุบันแปรปวน คลุกเคล้าจนบางครั้งสับสน ลมพัดมาบางครั้งก็พกเอากลิ่นของอดีตมาด้วย กลิ่นหอมหวานผสานลมที่ไหลผ่านร่างกายเสียงใบไม้ไหวภาพท้องฟ้าและบ้านเมืองผู้คน  ร่วมกันบรรเลงดนตรีที่ไร้สุ่มเสียงไร้ภาษา บอกเล่าเรื่องราวอดีตที่ไม่เคยเกิดขึ้นอนาคตที่ไม่มีจริงแต่เป็นแค่ตอนนี้  บางครั้งความอาลัยและสุขก็เกิดข้างๆกันเหมือนเวลากินข้าวที่ในช้อน แต่ละคำที่กินมีส่วนผสมที่ต่างกันอยู่ บางคำหวาน บางคำเผ็ด เพียงแค่นี้ก็เริ่มจะสนุกแล้ว แต่ความสนุกนี้บ้างครั้งก็ทำให้งุนงง บางครั้งรู้สึกหวาดกลัว กลัวอะไรไม่รู้     ไม่รู้ว่าจะแทนค่าทางภาษาถ่ายทอดอย่างไร หรือจะเป็นความกลัวที่เกิดจากการไม่รู้ “ความจริง”    หาข้อแก้ต่างให้ตนเองตลอดเวลาในชีวิตใช้สิ่งที่เรียกว่าตรรกะ ความน่าจะเป็น  สมควรจะเป็น และต้องเป็นตลอด หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ
“สุดท้ายแสงที่เห็นนั้นไม่ใช้อะไรมันคือภาพที่ติดตา”   

อายิโน๊ะ
                                                                                          
จดหมายถึงศิลปากร
               
                ทุกคนที่ก้าวเดินเข้ามา ณ ที่แห่งนี้ ผมเชื่อว่าเป็นเพราะความมุ่งหวังและความฝันในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำหน้าที่ชักพาเข้ามา เราเบียดบังปีนไต่ผู้อื่นจนมาอยู่ที่นี่มีผู้ผิดหวังในความสุขของเรามากมาย  เราจะชดเชยพวกเค้าอย่างไร  เราอย่ามัวหลงในตนเองเกียรติปลอมๆ ความเชื่อที่เอาไว้ป้องกันตนเอง  ขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ข้างหน้าที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุดที่ทุกคนต้องไปไม่อาจเลี่ยงได้ เราจะประคองตนเองไปอย่างไร  บนแผ่นดินนี้ยังเปร่งแสงแห่งความดีงาม เพียงแต่เราจะเปิดตารับรู้ไหม อย่าพิพาษาสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ไม่อะไรที่ไม่มีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นมีเหตุผลเชื่อมโยงกันหมด ดังนั้นเมื่อทำสิ่งใดจึงควรคิดถึงผลและเหตุที่เราต้องกระทำเช่นนั้น  เรียนรู้และเข้าใจในหน้าที่ของสิ่งต่างๆ  สัมผัสและอ่านสิ่งรอบตัว อย่ามัวหลงเพลินจนลืมตัว  เราโชคดีและเป็นเกียรติมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่  ที่อันแสนอัศจรรย์จงจดเรื่องราวของตนไว้ในความทรงจำ ให้มีแต่ความงามและคุณค่า เพื่อเป็นไอเย็นยามอากาศร้อน  เป็นฝนที่พรมลงพื้นดินที่แตกระแหง  เราควรจะหวงแหนมันเพราะความจำเรานั้นค่อยๆเน่าไปทุกวันสุดท้ายมันก็เน่าหายไปพร้อมกับกาย  ในอากาศมีเรื่องราวฝังอยู่เราจงคุ้ยมันออกมาด้วยลมหายใจเพื่อการเรียนรู้
               

                

                นาฬิกาเข็มหัก
                นาฬิกานั้นหยุดเดินมานานแล้วแต่เวลาไม่เคยหยุด คอยกัดกร่อนร่างกายและสิ่งต่างๆอย่างเท่าเทียม สนิมเกาะพอกพูนพร้อมแตกสลาย เรื่องราวต่างๆถูกจดไว้ด้วยคราบเหลืองๆ
                ย้อนไปวันนั้นเสียงเพลงพาผมไปสู่ทิวทัศน์ที่เคยสัมผัสแต่ไม่เคยเห็น  ผมสูดภาพที่เห็นมาไว้ในปอด มีกลิ่นหอมบางๆเจืออยู่ ไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นดอกปาริชาติที่กล่าวกันว่าความหอมนั้นทำให้ระลึกชาติได้หรือเปล่า ภาพต่างๆในสมองถูกเรียกออกมาวางเรียงบนกระจกตา อดีตเริ่มถูกแต่งใหม่อีกครั้ง อดีตเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เพราะเรานั้นจะมองและตีความด้วยปัจจุบันเสมอ พงศาวดารกำลังถูกเขียนทับซ้ำๆจนแทบจะเป็นสีดำทั้งเล่ม ขนาดเพียงแค่เราลองนึกย้อนไปเมื่อตอนเด็ก บางครั้งยังนึกไม่ออกจนบางครั้งเหมือนกับว่าเราตอนนี้กับตอนเด็กเป็นคนละคน  เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นทุกวันทับจนเราอ่านไม่ออก  บางครั้งรื้อเจอร่องรอยที่คุ้นเคย ผมนำรอยนั้นมาตกแต่งปรุงรสจนถูกปากแล้วกลืนลงไป บางครั้งออกฤทธิ์ผ่อนคลาย สนุก  บางครั้งรสแรงเหมือนกรดกัดจนภายในโหว่แหว่จนต้องรีบหาอะไรมาเติม แต่มันกลับรั่วออกหมด แถมมันยังทำให้ช่องนั้นเริ่มกว้างยิ่งกว่าเดิม หวั่นๆว่าคุณค่าจะลดลงตามน้ำหนักเหมือนสินค้า แต่เคยมีคนบอกว่าดินที่น้ำหนักเท่ากับทองอาจไร้ค่า แต่ถ้าถูกเติมแต่งด้วยจิตใจนั้นจะหาค่ามิได้
                วันนั้นเมื่อชั่วโมงก่อนผมเจอภาพลางๆของคนหนึ่ง ภาพนั้นเบาบางเหมือนหมอกแต่สุกใสเหมือนแสงแดดที่จับต้องไม่ได้  แต่เผาร่างผมจนเกือบเกรียม กึ่งสุก กึ่งทุกข์ แบบมีเดียมแรร์  แต่ถ้าดูภายในมันเป็นถ่านชัดๆ เรื่องราวต่างๆจึงปลิวไป ที่แท้นาฬิกายังหมุนแต่เข็มมันหักหมด เลยบอกอะไรไม่ได้อีกต่อไป
               


บทเรียน ก ข  /  อนุบาล – กาล
การเรียนนั้นเป็นเครื่องสร้างกรอบของสังคม  บทเรียนต่างๆที่เรากรอกให้กับเด็กก็คือสิ่งที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้า  ไอ้บทเรียนที่ว่านี้มิได้หมายความเฉพาะแค่ภายในชั่วโมงเรียนหรือห้องเรียน แต่หมายถึงทุกสิ่งที่มากระทบผัสสะและก่อให้เกิดรอยในจิตและสมอง การเรียนที่แท้นั้นต้องพยายามรู้ให้ได้ใกล้ความจริงให้มากที่สุด เพราะสิ่งต่างๆที่เห็นว่าถูกต้องนั้นสามารถผันแปรไปตามกาล เช่นครั้งหนึ่งโลกแบน แต่ตอนนี้กลับกลม  หรือดาวพลูโตเคยอยู่ในระบบสุริยะ แต่ตอนนี้เป็นดาวเคราะห์แคระ ทั้งๆที่ตัวโลกเราหรือดาวไม่ได้เปลี่ยนไปตามสมมติบัญญัติ เหล่านั้นเลย มีเพียงความคิดการยอมรับของคนเท่านั้นที่เปลี่ยน ถ้าลองคิดดูจะเห็นว่าทุกสิ่งที่เป็นอยู่นั้นก็เป็นอย่างนั้น แรงโน้มถ่วงไม่ได้เกิดจาก นิวตัน โลกไม่ได้กลมเพราะโคเปอร์นิคัส แต่มันมีมันเป็นอยู่แล้ว คนเพียงแค่นำสมมุติมาจับเพื่อให้เกิดรูปเท่านั้น ในการศึกษาบางครั้งเราต้องมองชำแหละข้อมูลต่างๆให้เห็นชัดเจนเพื่อไม่ก่อให้เกิดการหลงผิด อย่างเช่นส้มตำนั้นเราถูกทำให้เชื่อว่าคืออาหารอีสาน แต่ความจริงนั้นมะละกอพึ่งมีการนำไปปลูกที่อีสานไม่ถึงร้อยปี  เราถูกบอกว่าสุโขทัยคือราชธานีแห่งแรกของไทย แต่ที่จริงมีอาณาจักรต่างๆก่อนนั้นมากมาย และเรามักนำเอาความเป็นชาติแบบในปัจจุบันไปใส่อดีต ซึ่งเป็นเหตุแห่งปัญหามากมาย  หรือครั้งนั้นบอตติเชลลีเคยนำงานของตนเองไปเผาเพราะเชื่อในคำสอนของซาโวนาโรลาพระเคร่งศาสนาสุดท้ายเจ้าของคำสอนนั้นก็ถูกเผาเช่นเดียวกัน หรือในอดีตหญิงชาวจีนที่สูงศักดิ์ต้องรัดเท้าเพราะเห็นว่างามและแสดงถึงฐานะ ความเชื่อต่างๆนั้นถูกสายน้ำกาลเวลาพัดเปลี่ยนทิศทางอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่สอบสวนให้ดี หลงไปกับกระแสหรือแฟชั่นโดยลืมตน เมื่อนั้นเราก็อาจจะถูกพัดจมลงในลำธารแห่งประวัติศาสตร์















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น