วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ / Verapong Sritrakulkitjakarn

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

จดหมายถึงอาจารย์ศิลป์





แง่งามในความจริง
โดย: พลเกิ้ง
________________________________________________________
                มนุษย์คนหนึ่งทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งที่ตนเชื่อ ยึดมั่นในความดีงามในวิถีของตนอย่างไม่เสื่อมสลาย กระทั่งพร้อมสลายความสุขสบายภายนอกเพื่อประกอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น สิ่งเหล่านี้มิใช่สิ่งที่เป็นปกติของผู้คนทั่วไป จะกระทำได้ ถึงกระนั้นวิถีแบบนี้ก็ไม่ใช่ระยะทางอันห่างไกลที่ปุถุชนคนหนึ่งจะก้าวย่างไปถึง
                การจะกล่าวถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในแง่อุดมคติทางศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็สรรเสริญในองค์ความรู้ต่าง ๆ อันประกอบเป็นสร้างสรรค์ และวิชาการที่นำมาสั่งสอนลูกศิษย์ แต่ในแง่งามแห่งความเป็นมนุษย์กลับไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับท่านในมุมนี้เท่าไร
จากบทความทางศิลปะที่อาจารย์ศิลป์เขียนในวาระต่าง ๆ                เป็นสิ่งที่การันตีถึงความกระจ่างในด้านวิชาการศิลปะของท่านเป็นอย่างสูง ซึ่งเมื่อได้ศึกษาหลักฐานทางวิชาการดังกล่าว จะเห็นว่าท่านไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการลอกเลียนแบบอย่างตะวันตก แต่ให้เรียนรู้เฉพาะเทคนิคและวิธีในการแสดงออกซึ่งในส่วนความรู้สึกทางจิตวิญญาณควรจะเป็นของเฉพาะตนเท่านั้น
จุดยืนดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานของลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์หลายคน ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เทียมเท่ากับนานาชาติได้
เมื่อศึกษาชีวิตของท่านจะเห็นว่า หากท่านยังคงอยู่ในโลกตะวันตกก็ย่อมจะมีชีวิตที่สุขสบายทั้งด้านชื่อเสียงและรายได้มากกว่าเป็นข้าราชการธรรมดาในประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินเดือนน้อยมากหากเทียบกับหน้าที่และการงาน  แต่ท่านกลับยินดีที่จะเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นที่รักของศิษย์มากกว่าจะเป็นศิลปินที่สร้างสรรค์มีผลงานชั้นเลิศและได้รับเกียรติยศอันเป็นฐานแห่งความสุขภายนอกสำหรับตน
สิ่งที่น่าสนใจคืออาจารย์ศิลป์เป็นชาวตะวันตก ดังนั้นวิถีต่าง ๆ ของท่านย่อมต่างจากชาวตะวันออก สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหากับท่านในการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจความลำบากนี้ กลับยังคงใช้ชีวิตปกติแบบชาวไทย ซึ่งไม่เหมือนคนไทยอีกหลายคนที่กลับทำตัวเลอเลิศเพริศความรู้กว่าคนอื่นทั้ง ๆ ที่ตัวเองกลับว่างเปล่าทางปัญญา
อาจารย์ศิลป์ไม่เคยสร้างงานศิลปะเพื่อชื่อเสียงหรืออามิสใด ๆ ในขณะที่ลูกศิษย์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างพะวงกับความสำเร็จในชีวิต ทั้งด้านรายได้และชื่อเสียงเกียรติยศ หรือเลยไปถึงศิลปินระดับชาติ แต่อาจารย์ศิลป์กลับต้องการครอบครัวที่อบอุ่นเล็ก ๆ พื้นที่ในการทำงานศิลปะที่ท่านรัก และลูกศิษย์ที่รักและศรัทธาในความรู้ที่ท่านได้ถ่ายทอดให้
ในขณะที่ลูกศิษย์หยิ่งผยองอุปโลกน์ตัวตนใหญ่เท่าภูเขา ไปไหนมาไหนมีอัตตาราวกับผู้วิเศษ ทว่าอาจารย์กลับสวมชุดสีกากีของข้าราชการธรรมดา ๆ และไม่เคยแสดงความอหังการกับผู้ใด ท่านยังคงปรารถนาให้ผลงานเป็นดั่งบทสนทนาระหว่างศิลปิน ศิลปะ และมหาชน
สรรพสิ่งที่ถูกหลอมรวมเป็นอาจารย์ศิลป์ คือความสมบูรณ์อีกรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ผู้ไม่ยอมให้อัตตากลืนกิน เป็นคนทำงานศิลปะที่อุดมไปด้วยความรู้และปรัชญาส่วนตัวที่น่านับถือ
 หากศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ทั้งหลาย ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ กำลังแสวงหาอัตลักษณ์แห่งตน ก็คงไม่ต้องเสาะหาบุคคลใดที่ไกลตัวมาเป็นแบบอย่าง เพราะอาจารย์ศิลป์คือแบบอย่างคนทำงานศิลปะที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว

ของที่เคยกับสิ่งที่เป็น
โดย: พลเกิ้ง, กรกฎาคม 2553.
_______________________________________________________________
                 
                ผมพบตัวเองอาศัยเงามืดของซอกหลืบแห่งความรู้สึกเป็นที่หลบภัยในยามที่ตัวเองรู้สึกพ่ายแพ้ ในห้วงแห่งความท้อแท้ผมพึ่งพิงสุราเป็นน้ำทิพย์คอยปลอบหัวใจที่ไม่สามารถเป็นไม้เท้าชันกายให้ลุกขึ้นสู้ได้ บางครั้งผมต้องก้มหน้าเพื่อมิให้ผู้ใดต้องพานพบกับรอยธาราอันแห้งบนสองเนินแก้ม บางครั้งผมต้องเงยหน้าเพื่อมิอาจให้ผู้ใดต้องเห็นดวงตาอันชุ่มแดงมาอย่างผู้ปราชัย
แน่หละ! ผมอายทั้งเวิ้งฟ้า และแผ่นปฐพี
                ผมเคยรู้สึกแปลกแยกจากสรรพสิ่งเพียงเพราะไร้ที่พักพิงหัวใจที่เปียกชุ่ม พยายามไล่ตะลุยอ่านตำราต่างๆเพื่อค้นหาความหมายของลมหายใจที่ค่อยๆ หลุดลอยไปแต่ละวันๆ แต่แล้วก็พบเพียงความหมายอันว่างเปล่า ทว่ากลับยิ่งปลุกเร้าให้อยากรู้สรรพสิ่ง
                หลายครั้งผมปลีกตัวจากเสียงสนทนาของมิตรสหายเพียงเพื่อต้องการหาเสียงเจรจาของตัวเอง
                บางครั้งผมพึ่งพิงสุราเพียงหาความบันเทิงแบบโลกีย์ แต่สุดท้ายกลับรู้สึกถูกโบยตีจากสิ่งที่เรียกว่า ความละอายต่อตนเอง
                บนบาทวิถีที่ทอดยาวไปบนถนนที่จอแจขนาบคู่ไปกับเส้นทางจราจร เราไม่สามารถหาความเงียบสงบได้ หากแม้เข้าสู่พงไพรหัวใจไม่หยุดนิ่ง ก็ย่อมพบบางสิ่งที่มีสำเนียงเย้ยหยันให้ตนเองต้องพรั่นพรึง อย่างไรก็ตามหากแรงกระเพื่อมของจิตใจเต็มไปด้วยความสงบเย็น ต่อให้เครื่องยนต์อยู่ไม่ไกล แม้ลมหายใจก็ไม่สั่นสะเทือน
                ผมเคยพบตัวเองอาศัยเงามืดของซอกลืบแห่งความรู้สึกเป็นที่หลบภัยในยามที่ตัวเองรู้สึกพ่ายแพ้ แต่ต่อมาผมกลับมิค่อยใยดีกับความรู้สึกใดๆ เสียงก่นด่า ดูถูก เย้ยหยัน ฉับพลันเป็นเพียงกระแสสายลมที่พัดพาความเงียบนิ่งมาสัมผัสกายใจแต่เพียงเบาบาง
                ในห้วงขณะแห่งความท้อแท้ ผมค้นพบ และร่วมสนทนากับมันราวกับสหายร่วมชีวิตที่คุ้นชิน
                ผมเคยรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกทิ้งอยู่กับความทรงจำอันเจ็บปวด ความพ่ายแพ้ที่น่าอดสู และประสบการณ์ที่ตนเองเป็นเพียงตัวประกอบ บัดนี้ผมกลับไปค้นหาความรู้สึกดังกล่าวที่คล้ายเงาในอดีต
แต่กลับพบเพียงความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไร
                วันเวลาได้พาผมไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่ต่างไปจากวิถีเก่าๆ อยู่บ้าง สิ่งเหล่านี้ได้คอยขัดเกลาความรู้สึกที่เคยถูกกดทับให้ค่อยๆ คลายออกมา ราวกับยกหินออกจากพุ่มหญ้า ใบหญ้าที่เคยมีแต่สีแห้งกรักก็ค่อยๆ รักษาตนเองให้เป็นสีสดขจี และค่อยๆ ยืดตัวเองขึ้นสู่กลางอากาศ
                ผมเป็นเพียงต้นหญ้าที่มิใยดีในดอกไม้ในกระถางสักเท่าใดนัก แน่หละผมมิเคยได้รับน้ำจากผู้ดูแล ไม่ได้ถูกประดับบนกระถางที่ประดับลวดลายอลังการ อีกทั้งมิได้ถูกนำไปประกอบเป็นจุดเด่นในยามที่ศิลปินบรรจุมวลพฤษภาไว้ในภาพจิตรกรรม แต่ต้นหญ้ากลับไม่เคยตายอย่างง่ายๆ ตายแล้วก็เกิดใหม่อย่างรวดเร็ว
                ผมเป็นเพียงต้นหญ้าที่ขึ้นได้อย่างอิสระ ไม่เหมือนดอกไม้ที่นับวันก็ต้องถูกตัดและแช่น้ำยาอาบศพเพียงเพื่อให้มนุษย์เอาไปปักไว้ในแจกันหรู ทว่าไร้วิญญาณ...ดังนั้น ผมจึงไม่รู้สึกอะไร!

กลอนอิสระรำพันถึงต้นจันทน์
โดย: พลเกิ้ง, 2553.
_______________________________________________________________
                 
(ลำนำ)                    จันทน์เอ๋ยต้นจันทน์เจ้าเคยตระหง่าน
ทุกวันนี้เจ้าเอียงเท่ละเล่ห์ลาน                              ทิ้งวันวารเบื้องหลังเมื่อยังดี
โอ้จันทน์เจ้าเอ๋ยเจ้าเคยเคียงข้าง           เจ้าเห็นพวกช่างศิลปี
เจ้าเป็นคุรุแห่งความดี                                            ที่ไม่เคยมีในปัจจุบัน
เจ้าเคยเห็นหนุ่มงามแห่งฟลอเรนซ์        เจ้าเคยเห็นอนุสาวรีย์อันลือลั่น
เจ้าเคยเห็น อ.แสวง อ.จำรัส อ.สนั่น      เจ้าเคยฝันถึงเฟื้อหนุ่มผู้ยิ่งยง
เจ้าเคยพิงอิงแอบรอ น ณ.ปากน้ำ          เจ้าคงจำ อ. เขียน เซียนประติมากรรมนุ่ม
เจ้าคงเห็นท่านอังคารในยามหนุ่ม          ทุกวันนี้เจ้าคงฉ่ำชุ่มด้วยน้ำตา

จันทน์ก็เป็นแค่ไม้ประดับถิ่น                อยู่บนดินรอบข้างมีคอนกรีตหนา
เหล่าศิลปินศิลปากรนานา                       ควรกลับมาหาจันทน์ทุกวันมี
จันทน์ยังเอียงราวต้องแรงลมลู่              คู่รูปปั้นอาจารย์ศิลป์ ณ ตรงนี้
หลายท่านคงหลงลืมวันสุขี                    วันที่มีอาจารย์ศิลป์กับต้นจันทน์

หลังสมัยใหม่นั้นละหรือคือหมุดหมาย    พวกท่านคุยกันคล้ายมีคำนั้น (จริงหรือ)
พวกท่านลองบรรยายให้บันลือ             พวกท่านคือใครในสายตาต้นจันทน์

โธ่เอ๋ย...ก็เป็นเพียงแค่กระแส                 พวกท่านก็รู้เห็นเพียงแค่นั้น
ไม่เคยกลับมาเหลียวแลต้นจันทน์       ว่าลูกที่ล่วงหล่นนั้นช่างต่างจากวันวาร

กายวิภาควาดเส้นที่เน้นให้ถูก              ต้อง  เรียนผูกทักษะเป็นแสนล้าน
เปอร์สเป็กทีฟภาพเหมือนตะลึงตะลาน                      รูปคนรูปม้าอดีตกาลไม่ต้องดู
คิดแต่เพียงประเด็นที่เด่นชัด                                        พวกวังพวกวัดไม่ต้องรู้
อยุธยาสุโขทัยไม่น่าดู                                   ไม่รู้ไม่สนนี่คือคนหลังสมัยใหม่

จันทน์เอ๋ยคงเหงาในคราวนี้          เพราะไม่มีใครดูคู่พิสมัย
จันทน์เจ้าเอ๋ยเหลือเพียงเสียงอาลัย                ต้นจันทน์นั้นใกล้วายชีวา
จันทน์ยังคงเรียกหาบุรุษแห่งฟลอเรนซ์          จันทน์ยังคงถวิลหา
จันทน์เอ๋ยเงียบเหงาทุกเพลา                          จันทน์เอ๋ยจันทราจันทร์แรม
เมื่อถึงคราวเจ้าจันทน์เป็นสินค้า                    เขาก็มาเอาวันวารอันแฉล้ม
เป็นเพียงสินค้าที่ล่อแหลม                           เป็นกับแกล้มยามสนทนาในราตรีกาล

จันทน์เจ้านิ่งเจ้าเงียบอยู่คู่รูปปั้น     ผู้ลือลั่นนั่นบิดาศิลปาสถาน
ช่างเงียบเหงาทั้งเงาจันทน์และอาจารย์                        เหลือเพียงลานโล่งเปล่าเศร้าเสียจริง


วันผ่านเปลี่ยน
โดย: อายิโน๊ะ
_______________________________________________________________

        “ลองมองไปที่สุดขอบฟ้าเหนือผิวทะเลที่ส่องประกายจะเห็นเงาลางๆ ลอยเลื่อนอยู่อยากโดดเดี่ยว นั้นคือ เรือซานต้า ลูเซีย “

                เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พุทธศักราช 2505 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นบนเรือ ซานต้า ลูเซีย  กัปตันใหญ่ผู้ก่อร่างสร้างสมความดีงามได้ลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ได้ฝากมรดกอันยิ่งใหญ่มหาสารให้ไว้แด่ศิษย์และประเทศชาติ 
สายธารแห่งประวัติศาสตร์พัดพาทุกสิ่งเหลือเพียงคุณความดีที่ยังคงอยู่  วีรบุรุษผู้กล้าหาญทางการเมืองการสงครามมีมากมาย  แต่วีรบุรุษผู้เสียสละในฐานะครูที่แท้จริงกำลังถูกลืม ความถ่อมตน เสียสละ และจริงใจให้ในการสอนอย่างไม่มีปิดบัง พร้อมที่จะช่วยเหลือทุกเรื่อง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์เฉพาะหน้าที่หรือในห้องเรียน ทุกสิ่งนี้มีเต็มเปี่ยมอยู่ในคนผู้นี้  เค้าคือ อาจารย์ศิลป์  พีระศรี บุคคลสำคัญที่เริ่มถูกมองข้าม กัปตันใหญ่แห่งเรือ ซานต้า ลูเซีย นาวาแห่งศิลปการศิลปากร
หลังจากวันแห่งความสูญเสียนั้น ความเงียบงันราวกับวันสิ้นโลกปกคลุมไปทั่วสถานที่แห่งนี้และในจิตใจของศิษย์ทุกคน ยังดีที่หลักธรรมแห่งความจริงได้สอนไว้ถึงความไม่เที่ยงอันเป็นธรรมดาของโลก มีเพียงสิ่งเดียวที่ตอบแทนคุณอาจารย์ได้คือสืบสานพัฒนาความตั้งใจและวิชาความรู้ที่อาจารย์มอบให้ไว้ต่อไป 
หลังจากนั้นมรดกต่างๆที่อาจารย์มอบไว้ได้เดินทางผ่านวันปีแห่งเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆมากมายกัดกร่อนทำลายคุณค่าในอดีตจนเริ่มเลือนราง  จากเรื่องจริงกลายเป็นประวัติศาสตร์เป็นตำนานเป็นเรื่องเล่าสุดท้ายเหลือเพียงเสียงลมที่พัดผ่าน  ความยิ่งใหญ่แห่งอดีตกำลังถูกรื้อถอนด้วยปัจจุบัน  อดีตถูกมองเป็นเพียงสิ่งคร่ำครึไร้ค่า โยนมรดกสำคัญทิ้งอย่างขยะที่ไร้ประโยชน์โดยหลงลืมว่าครั้งหนึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนมุ่งปรารถนาและเคยได้รับประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ ทำให้ผู้รับสืบทอดต่อมาได้แต่กากเดนที่บิดเบือน เพราะการที่ต้องการก้าวเดินตามผู้อื่นทำให้เราหลงลืมสิ่งดีงามที่เรามีอยู่ ยิ่งวิ่งไล่ตามก็ยิ่งหลงทางมองไม่เห็นรอบข้างและตนเอง
ดังนั้นเราจึงควรหยุดวิ่งและลองมองพิจารณาตนเองมองให้เห็นความต่างพิเศษที่มี   ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่มาแห่งสิ่งต่างๆและคุณค่าของอดีต  ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบอดีตแต่เพียงนำมาปรับใช้หรือมองเห็นคุณค่า อดีตคือเหตุของปัจจุบันอนาคตคือผลของปัจจุบัน
การรู้คุณค่าของอดีตไม่จำเป็นว่าเราต้องมานุ่งโจงกระเบนห่มสไบ เพียงแค่ไม่ดูถูกอดีตซึ่งเปรียบเหมือนการดูถูกผู้มีพระคุณและบุพการีของตนก็พอ  เนื่องจากขณะนี้ความลุ่มหลงบิดเบือน เริ่มแผ่ปกหลุมจึงอยากกระตุ้นเตือนให้ลองหันมาพิจารณาสิ่งอันทรงค่าที่เรามีอยู่  และบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่ควรนำเป็นแบบอย่างและเราไม่ควรลืมเลือน...
...อาจารย์ศิลป์ พีระศรี.


จดหมาย..ถึงอาจารย์
โดย: อายิโน๊ะ, มิถุนายน 2553.

เรียนอาจารย์ที่เคารพ เรื่องราวที่ผมจะบอกกล่าวให้อาจารย์ฟัง อาจจะเป็นเรื่องที่อาจารย์ก็รับรู้อยู่แล้วก็ได้แต่ผมเพียงแค่อยากจะบอกกล่าวกับอาจารย์เท่านั้น อาจจะดูเหมือนต้องการหาเรื่องคุยเท่านั้นซึ่งก็เป็นความจริง หวังว่าอาจารย์จะไม่โกรธผมนะ
                เมื่อปีพ.ศ. 2544 ผมดึงดันเบียดตัวเองให้เข้ามาอยู่ในที่แห่งนี้ ที่ที่แปลกประหลาดอากาศเหมือนหยุดนิ่ง เวลาไม่เคยหมุน เหมือนป่าลึกลับในเทพนิยาย ในกระแสอากาศมีเสียงบ่นพร่ำมนต์ลึกลับที่แม้แต่ผู้สวดก็ไม่รู้ความหมาย  รู้แต่ว่ามันสามารถต่อเติมความฝันละเมอของตนได้ ขนลุกขนพองบ้างที่ได้ฟังได้สวดเฟ้อหลงหลอกตนเองบ้างว่า “ยังมีหวัง....ยังมีหวัง”
ทั้งๆที่ยังไม่รู้เลยว่าอะไรคืออะไร คล้ายกับว่าเสียงสวดนั้นจะก่อตัวเป็นรูปร่างของความฝันได้ บางคนน้ำตาปริ่มเหมือนพบโมกขธรรม บางคนโงนเงนเหมือนจะขาดสติ  ผมเคยอ่านเจอที่ผู้ที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนพูดว่า “ไอ้เพลงอาถรรพณ์”  ใช่แล้ว! ก็ไอ้เพลงอาถรรพณ์นี้แหละที่ทำให้เรามัวเมาหลงตนอยู่อย่างนี้ (เสียงตะโกนมาจากที่ที่ไร้ที่มา) ผู้ที่ได้ยินเริ่มขึ้น “ข้าคือผู้ที่จิตวิญญาณแห่งจักรวาลยังต้องให้เกียรติ มีคุณค่าปานดวงดาว สามารถสรรค์สร้างความงามที่เหนือกว่าธรรมชาติ”  ผู้ที่ยืนยั่งรากลึกยืนเอนฟังแล้วส่ายหัว
ฝูงผู้กระหายเลือดยังคงไม่สะลายตัวเตรียมจ้องผู้ที่เผลอเปิดช่องให้โจมตีตลอดเวลา “พอ..พอสักที่” ผู้ถูกโจมตีเริ่มได้สติ เพราะรอยแผลเล็กๆบนผิวที่ถูกปากอันแหลมคมเจาะและถือกรรมสิทธิ์ในเลือดของผู้อื่นว่าเป็นของตน
ดวงดาวของจักรวาลเริ่มถูกโจมตีบ้าง “เชิญ....เชิญรับเลือดที่เก็บความรู้และความทรงจำของข้าไป”

“ไอ้บ้า!....มันไม่ได้รับความทรงจำของท่านหรอก แต่ท่านต่างหากที่จะได้รับความทรงจำของมัน....ความทรงจำของมันคือไข้เลือดออก!                เสียงพร่ำบ่นเริ่มเบาลง ได้ยินแผ่วๆว่า
                               “ศิลปินอยู่เพื่ออะไร  ยืนยงเพื่อจรรโลงสิ่ง”
คำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบ แต่ผมก็อยากรู้บางครั้งผมเหมือนจะรู้คำตอบอยู่เหมือนกันแต่ไม่แน่ใจ  อาจารย์ผมจะมีโอกาศได้รู้ไหมครับ!
เวลาพัดไปผ่านตัวผมจนถลอก ร่างเงาฝันเริ่มเลือนราง ภาพความจริงเริ่มปรากฏ ผมเดินวนไปมาเหมือนคนบ้า  ที่เดิมแห่งนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามวัย สนใจสื่อและเทคโนโลยีอย่างลุ่มหลง แต่งหน้าแต่งตาแล้วก็ไปเที่ยว ทิ้งให้ความรู้ความทรงจำแก่ๆเดี่ยวดายระเหิดหายไปกับอากาศของกาลเวลา
                ความเงียบเข้าครอบคลุม เสียงที่เคยได้ยินพร่ำบ่นหยุดลงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น แต่เราจะเผาประวัติศาสตร์ของเราทิ้งหรือ  อาจารย์ครับบางครั้งผมก็งุนงงกับสิ่งต่างๆจนไม่แน่ใจตนเอง  แต่ผมก็ยังแอบมั่นใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่อดีตแต่ต้องก้าวเดินไปคู่กับอนาคต
                อาจารย์ครับเสียงเพลงนั้นดังขึ้นแล้ว  ผมเริ่มเฟ้อหลงบอกตัวเองว่า
“ยังมีหวัง......ยังมีหวัง”

หยาดน้ำตาของอาจารย์   โดย: อายิโน๊ะ, กรกฎาคม 2553.

“ผมมักจะเดินอาบฝนเป็นประจำ  แต่วันนี้ผมพึ่งรู้ว่าฝนที่ผมอาบนั้นคือหยาดน้ำตาของอาจารย์”
           อาจารย์ครับ  อาจารย์ต้องเหน็ดเหนื่อยท้อใจมามากมาย แต่อาจารย์ไม่เคยท้อถอย อาจารย์ไม่เคยโอ้อวดอหังการในตัวตน ยอมจากบ้านเกิดอันแสนรุ่งเรืองเพียบพร้อมมาสู่ดินแดนอันห่างไกลที่ไม่มีใครรู้จัก และถูกมองว่าล้าหลังในสายตาของชาวตะวันตก แต่อาจารย์ไม่มองอย่างนั้นอาจารย์มองด้วยสายตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม มนุษยธรรม และสายตาแห่งศิลปะโดยปราศจากอคติใดๆ  อาจารย์ไม่ได้เข้ามาแบบผู้พิชิต แต่อาจารย์เข้ามาแบบนักบุญ
เมื่อแรกที่เรือล่องเข้ามาสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเสียงวูดคำรามกึกก้อง อาจารย์เพ่งมองทัศนียภาพรอบข้างอย่างสนใจและประทับใจมันเป็นภาพของดินแดนนี้ที่สัมผัสด้วยตนเองเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยเห็นและรับรู้จากคำบอกเล่าและหนังสือต่างๆ  ไม่รู้ว่าตอนนั้นอาจารย์รู้หรือเปล่าว่าดินแดนใหม่ที่เห็นนี้จะกลับกลายเป็นที่สุดท้ายที่อาจารย์อยู่ และเป็นที่ที่อาจารย์บอกว่าเป็น “บ้านเรา” ทัศนียภาพนั้นได้ประทับรอยอยู่ในใจตลอดมา บ้านเรือนไม้ริมน้ำ เรือนแพ ดงมะพร้าว และสวนมะม่วง ฯลฯ ยอดเจดีย์สูง โบสถ์ อาราม ศาลาริมน้ำ ผู้คนผิวคล้ำตามริมฝั่งต่างจ้องมองมาที่เรือดำลำใหญ่นั้น เด็กที่โดดน้ำเล่นน้ำต่างหยุดและจ้องมอง บางคนยิ้มและโบกมือให้ ไม่รู้ว่าอาจารย์โบกมือกลับไปหรือเปล่า แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้ฝันถึงความหวังต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ที่ดินแดนใหม่แห่งนี้ 
หลังจากนั้นสิ่งต่างก็ได้พัดเข้ามาในชีวิต ความผิดหวังในความหวังความตั้งใจ ขาดคนมองและเห็นคุณค่า  โชคดีที่ลมไม่ปล่อยความผิดหวังไว้นาน  เมื่อมีผู้เห็นคุณวิเศษของอาจารย์ แต่อุปสรรคก็แวะมาทักทายเป็นประจำ ซึ่งอาจารย์ก็เปิดประตูรับและรับรองอย่างดี คุณวิเศษของอาจารย์เปล่งประกายงดงามมากเมื่อร่างเงาของสถานศึกษานี้ก่อตัว จนเป็นที่เลื่องลือว่า “อาจารย์เฟโรชิ นั้นมีอะไรดีดี”
ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์ต้องควบหน้าที่สองอย่างทั้งเป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบการสอนทั้งหมด ทั้งงานในตำแหน่งช่างปั้นกรมศิลปากร อาจารย์ต้องทำงานอย่างหนัก และรับผิดชอบสูงมาก อาจารย์ไม่เหนื่อยบ้างหรือครับ  ผมคิดว่าผลงานที่อาจารย์รักและภูมิใจที่สุดไม่ใช่อนุสาวรีย์อันใหญ่โตใดๆเลย แต่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรและลูกศิษย์ทั้งหลายมากกว่า  ความรู้ต่างๆ ที่อาจารย์ถ่ายทอดให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ความเป็นห่วงและปรารถนาดี อย่างไม่มีอาจารย์ใดมาเทียบได้  อาจารย์ครับอาจารย์คือครูที่แท้จริง  ถึงแม้ในช่วงสุดท้ายอาจารย์ยังทนเจ็บปวดจากโรคภัยอยู่คนเดียวโดยไม่บอกใคร บอกตนเองว่ารอให้ปิดเทอมก่อนจึงค่อยรักษาตัวเพราะกลัวว่าศิษย์จะเสียผลประโยชน์เพราะตน อาจารย์ไม่เคยคิดถึงตนเองเลย  ผมคิดว่าในช่วงจังหวะลมหายใจสุดท้ายของอาจารย์ก็ยังคิดถึงลูกศิษย์
วันนี้ศิลปากรยังอยู่ แต่ทุกอย่างผันเปลี่ยนไปตามกระแส  อาจารย์ยืนอยู่มองสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนไป และยังเป็นห่วงลูกศิษย์เหมือนเดิม อาจารย์ยังต้องทุกข์ต้องเหนื่อยเพราะเหล่าศิษย์อยู่เช่นเคย  อาจารย์ครับอาจารย์เหนื่อยไหม ผมอยากให้อาจารย์พักผ่อนบ้าง  ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกครับพวกผมจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด  ไม่ว่าอย่างไรผมยังเชื่อว่าทุกอย่างจะดีเพราะที่นี่เกิดมาจากความมุ่งมั่นมุ่งหมายที่ดียิ่งของอาจารย์  ตัวผมเองไม่รู้ว่าจะมีคุณความดีอะไร ถ้ามีบ้างหรือมีเท่าไรผมขออุทิศให้กับอาจารย์ทั้งหมด  ผมอยากให้อาจารย์มีความสุขครับ  โปรดให้อภัยกับศิษย์โง่ๆคนนี้ด้วยครับ
“Father please forgive me us”

มรดกแห่งความเศร้า / หีบทองที่เก็บขยะ
โดย: อายิโน๊ะ

                ความทรงจำที่ลางเลือน เรื่องราวที่ถูกบันทึก คำบอกเล่าจากลมปาก สร้างความฝันความปรารถนาให้กับปัจจุบัน บางเรื่องราวมหัศจรรย์ดั่งเทพนิยาย ทำให้คิดฟุ้งเพ้อหวัง เมื่อคำและเรื่องราวเหล่านั้นเริ่มจางลงจนปรากฏภาพปัจจุบัน จึงทำให้บางคนใจหายหรือทุกข์กับปัจจุบัน 

ปัจจุบันนั้นเลวร้ายกว่าอดีตเสมอหรือ ทั้งๆที่อดีตก็เคยเป็นปัจจุบันมาก่อน  เราคงมักเคยได้ยินว่า สมัยก่อนดีอย่างนั้น ตอนฉันดีอย่างโน้น ทำไมเดี่ยวนี้เป็นอย่างงี้  มาไม่มากก็น้อย  โลกเราเจริญขึ้นจริงหรือ  คนในปัจจุบันเสื่อมทรามกว่าอดีตหรือ คมเราโง่ลงหรือฉลาดขึ้น วงจรแห่งกรรมกำลังเดินไปวงจรธรรมชาติไม่เคยหยุด ปัจจุบันคือยุคเสื่อมหรือ ปัญหาสังคมในปัจจุบันมากกว่าอดีตความโลภของคนมากขึ้นหรือ อดีตคือสิ่งดีเป็นมาตรวัดปัจจุบันหรือ เราใช้มาตรฐานเดี่ยวกันได้หรือ ความถูกผิดที่สังคมตั้งขึ้นนั้นคือความจริงหรือ ปัญหาปัจจุบันคือโรคเรื้อรังมาจากอดีตหรือเปล่า เราไม่อาจมองเห็นภาพที่แท้จริงของอดีตจากคำบอกเหล่าได้ เพราะเรื่องราวเหล่านั้นถูกการพาสเจอร์ไรส์มาแล้วตั้งแต่ดวงตาและการกลั่นกรองในสมองของผู้เล่าจนออกมาในบรรจุภัณฑ์หีบทองงดงามที่หมกซ่อนความจริงที่เหลวแหลกไว้ภายใน

 ความเสื่อมในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นเองโดยไม่มีบิดามารดาเป็นแบบโอปปาติกะหรือ สิ่งใดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต้องมีเหตุแห่งอดีตเป็นกำเนิด ฉะนั้นถ้าเหตุที่ดีงามย่อมต้องก่อเกิดผลอันดีงามแน่นอน ดังนั้นปัจจุบันเสื่อมกว่าอดีตจริงหรือ หรือว่าเป็นเพราะปัจจุบันเรานั้นได้รับมรดกอันบิดเบือนจากอดีต เราจะโทษแต่คนในปัจจุบันหรือ

การคอรัปชั่น ความรุนแรง สงคราม ข่มขืน โจรกรรม ฆาตกรรม ฯลฯ พึ่งมีในยุคนี้หรือ

ทำไมในหนังบางเรื่องที่ตัวเอกฆ่าคนมากมายแต่ได้รับการชื่นชม ทำไมในอดีตวีรชนบางคนฆ่าคนมากมายแม้กระทั่งญาติตนเอง นักดาบซามูไรเดินทางฆ่าคนไม่เคยถูกจับแต่กลับได้รับการสรรเสริญ ถ้าเป็นปัจจุบันเขาคือฆาตกรร้อยศพ อะไรคือตัววัด มรดกแห่งความเศร้าที่พวกเราต้องรับกันต่อไปก็คือปัญหาอันพอกพูนและคำดูแคลนจากผู้มอบให้ พวกเรานั้นโง่เง่านักหรือ

หรือพวกท่านคับแคบเกินกว่าจะเข้าใจ หรือมันเป็นการปัดสวะให้พ้นตัว ทำไมต้องแบ่งช่วงเวลาทั้งที่มันคือสิ่งเดี่ยวกันทั้งหมด เวลาไม่ได้ร้อยเรียงกันเป็นเส้นตรงแต่ที่ผูกกันไว้คือเหตุปัจจัยและผล การแก้ปัญหาจะให้แต่พวกเราในปัจจุบันแก้เท่านั้นไม่ได้เพราะไม่สามารถเห็นปมต้นกำเนิดได้ ดั้งนั้นจะต้องร่วมมือกันแก้ มันไม่ใช่ความผิดของใครแต่เราต้องช่วยกันเพื่อเป็นมรดกแก่อนาคต เป็นมรดกที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นหีบที่เต็มไปด้วยคุณความดี


“เรื่องราวความฝันเริ่มจางลง ปรากฏหนทางที่ดีงามทอดไปข้างหน้า”


ดำน้ำหยั่งสมุทร
โดย: อายิโน๊ะ

“พระสมุทรสุดลึกล้น    คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา         หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา          กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้         ยากแท้   หยั่งถึง “

เรานั้นมักหาค่าของสิ่งต่างๆเสมอแทนค่าเป็นตัวเลขกำหนดบอกเรื่องราว ว่าสิ่งนี้ สูง ต่ำ กว้างยาวลึก แท้จริงแล้วมันเป็นเช่นนั้นหรือ เราแทนค่ากันจนไปถึงสุดขอบจักรวาล เราจะรู้จักสิ่งต่างๆจากตัวเลขหรือ ถ้าทุกอย่างแทนค่าได้ด้วยตัวเลขโลกนี้คงหยุดหมุน สายลมหยุดพัด สายฝนไม่ช่ำเย็นเหน็บหนาว ประกายงามในดวงตาคงลางหาย

แต่พวกเรานั้นมีนิสัยชอบจัดอันดับให้กับทุกสิ่งแม้ในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ทองดีกว่าเงิน หัวดีกว่าเท้า ขาวดีกว่าดำ ฯลฯ การจัดชนชั้นของสิ่งต่างๆมีอยู่ในสายเลือดของเรา มันมีไว้เพื่อป้องกันตนเองหรือ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เรามักจะจัดการแบ่งชนชั้นให้กับมันด้วยคือศิลปะ ซึ่งตอนนี้ผู้คนมักจัดให้เป็นสิ่งสูง และจึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาคือไอ้คนที่ทำก็เลยคิดว่าตัวมันสูงด้วย คราวนี้เลยยุ่ง ยกตนเองเป็นผู้เหนือโลกเหนือผู้อื่น ไปปะปนว่าใกล้เคียงกับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งๆที่ตัวเองเต็มไปด้วยราคะกิเลส ตักตวงเงินทองจากผลงานอันเหนือโลกของตน ส่วนผู้ที่ซื้อผลงานได้ก็ต้องเป็นเศรษฐีชนชั้นสูงเท่านั้นพวกชาวบ้านมันโง่เง่าเกินไปที่จะเสพ
ส่วนบางพวกที่เป็นผู้มีมันสมองเหนือมนุษย์และเห็นว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทุกคนต้องเข้าใจกูแต่ตนเองไม่เคยคิดจะเข้าใจใคร แล้วโวยวายว่าผู้อื่นไม่มีปัญญาในเมื่อคุณดูถูกผู้อื่นในสังคมดังนั้นจึงควรเชิญให้ประทับแต่ในวิมานของตนไป

                ศิลปะเป็นประดิษฐกรรมของคน ดังนั้นผู้สร้างก็ต้องเป็นคนไม่ต้องไปเป็นเทวดา ศิลปะต้องอยู่กับชีวิตแสดงถึงความมีเลือดเนื้อจิตใจ อย่านำมาเป็นเครื่องประหัตประหารกันทางความคิดหรือไว้ดูถูกผู้อื่น ที่ว่าศิลปะเป็นสิ่งดีและสำคัญนั้นเพราะมีคุณค่าต่อผู้อื่นและสังคม ผู้ที่สร้างนั้นถ้าปรารถนาถึงจุดมุ่งหมายนี้ก็ควรที่จะให้ความสำคัญ  แต่ถ้าผู้สร้างมีจุดหมายเพียงเพื่อลาภยศของตนเองโดยไม่คิดถึงผู้ใด สิ่งที่ผู้นั้นประดิษฐ์ขึ้นคงมีค่าเพียงวัตถุมลพิษ แล้วผลงานต่างๆที่เราพบเห็นจะสามารถดูออกหรือว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งไหน อันนี้ถ้ามีเครื่องวัดก็คงไม่มีปัญหา แต่ศิลปะเป็นเรื่องของจิต(มนุษย์) ดังนั้นเครื่องวัดคุณค่าศิลปะจึงต้องเป็นมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยอคติ คราวนี้มันเลยยุ่งยากเพราะ

“จิตมนุษย์นี้ไซร้   ยากแท้  หยั่งถึง” นี่ครับ!

เนื่องในนิทรรศการคิดถึงอาจารย์ศิลป์
โดย: ลายเซ็นเซอร์
_______________________________________________________________

                พอข้าพเจ้าได้ยินชื่อนิทรรศการครั้งนี้แล้วก็นึกถึงความหลังในอดีตในสมัยที่เรียนศิลปากร โดยมหาวิยาลัย และคณะจะมีการจัดงานรำลึกถึงศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
                ในทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุก ๆ ปี เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ รวมไปถึง คณาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาคณะอื่นๆทั่วทั้งมหาวิทยาลัย บุคคลภายนอกที่อยากจะเข้ามาซึมซับบรรยากาศแบบพี่แบบน้องในรั้วศิลปากรท่านอาจารย์ที่เคยเรียนกับท่าน อาจารย์ศิลป์โดยตรง ก็จะมาเล่าประสบการณ์ ความประทับใจและความตั้งใจ นิสัยใจคอ และบรรยากาศการเรียน
                ในสมัยนั้นหนุ่มอิตาเลียนนาม Corrado Feroci ได้เดินทางเข้ามารับราช การอยู่ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย เริ่มซึมซับศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีของไทย รักประเทศไทย และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ความสามารถให้แก่ลูกศิษย์ที่เริ่มศึกษาศิลปะในสมัยนั้นให้รู้จักคำว่าศิลปะสมัยใหม่ โดยมิให้ลืมสิ่งสำคัญนั่นคือความเป็นไทย
                บัดนี้ข้าพเจ้าและกลุ่มเพื่อนที่มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงงานในนิทรรศการที่ชื่อว่า คิดถึงอาจารย์ศิลป์พวกเราถือเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์รุ่นที่ 58 แม้จะมิได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้โดยตรง แต่ด้วยการหล่อหลอม ความรู้ ทัศนคติ ความมุ่งมั่น ด้วยรากฐานที่มั่นคงแห่งการสร้างสรรค์    และมองเห็นถึงความงาม ความประณีตในวัฒนธรรมของตนเอง และวัฒนธรรมใหม่ที่ผสมปนเปเข้ามาจากการพัฒนาของประเทศผสมผสานและผ่านกาลเวลามายาวนานโดยกำเนิดความหวังทางศิลปะ
                จากรุ่นสู่รุ่นเป็นปึกแผ่นที่มั่นคง จนกลายเป็นคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ในปัจจุบัน                 ในการแสดงงานครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นก้าวเล็ก ๆ เป็นเสมือนการรวมตัวทางความคิด ถึงแม้เพื่อนบางคนบางท่านมีภาระกิจมากมาย การสร้างสรรค์ผลงานในแต่ละชิ้นไม่สะดวกดั่งเดิม แต่พวกเราที่มีโอกาศหรือพอที่จะมีเวลาสร้างสรรค์ก็ถือเป็นความยินดี และเป็นสุขเมื่อได้ร่วมงานแลกเปลี่ยนความคิด เป็นครั้งคราวด้วยความต่อเนื่อง เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของคำว่าศิลปะและเป็นก้าวที่เต็มไป
ด้วยความระลึกถึง...


อาจารย์ศิลป์ ตัวผม และเวลา
โดย: ดาวโหลด
_______________________________________________________________

ผมไม่แน่ใจว่าได้รู้จักชื่ออาจารย์ศิลป์ตอนไหน ไม่แน่ใจว่ารู้จักก่อนหรือหลังชื่อของคณะจิตรกรรม แต่ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมได้เข้ามาในคณะจิตรกรรมนั้นเป็นวันอาจารย์ศิลป์ ภาพที่เห็นคือรูปเคารพขนาดเท่าคนจริงที่ดูเป็นกันเองกับผู้คนที่เข้ามาไหว้ทำความเคารพ  บรรยากาศที่ดูอบอุ่นเต็มไปด้วยผู้คนที่แปลกๆ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่เล็กที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ครั้งนั้นทำให้ผมได้รู้จักและสัมผัสกับลานอาจารย์ศิลป์เล็กๆแห่งนี้ และเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไหว้ทำความเคารพรูปปั้นของท่าน
จากวันนั้นมาผมก็ใช้เวลาอีกหลายปีมาก กว่าจะได้เข้ามาไหว้รูปเคารพของท่านอย่างเต็มภาคภูมิ ก็คือวันที่ผมเข้ามาในฐานะน้องใหม่ของคณะจิตรกรรม แต่นั้นผมก็ได้ทำความเคารพรูปปั้นของท่านตลอดมา ทั้งบางครั้งบางเวลาที่อากาศสบายๆตรงฐานของรูปปั้นอาจารย์ก็ได้เป็นที่พักอาศัยเป็นที่นั่งเล่นพูดคุยกับเพื่อนๆ บางครั้งก็เป็นที่หลับนอนชั่วคราวยามเหนื่อยล้า
จวบจนเวลาผ่านไปผมเรียนจบทั้งชั้นปริญญาตรีและโท รวมเวลาเกือบ 9 ปีที่ผมอาศัยอยู่ในคณะจิตรกรรม ผมเห็นรูปเคารพของท่านยังคงอยู่เช่นเดิม ให้ความอบอุ่นสร้างความผูกพันกับศิษย์รุ่นหลานรุ่นเหลนไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคณะจิตรกรรมจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยตามกระแสของโลกบริโภคนิยม แต่ท่านก็ยังคงเป็นอาจารย์ศิลป์ของทุกคน ท่านยืนอยู่ตรงนั้นแล้วบอกกับลูกศิษย์ทุกคนผ่านคำพูดที่บันทึกไว้ตรงฐานรูปปั้นของท่านว่า พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้วท่านพูดย้ำพูดซ้ำของท่านทุกวันทุกคืนยืนท้าแดดท้าลมผ่านฝนผ่านหนาวเพียงเพื่อบอกกับศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว 
และวานนี้ผมมีโอกาสกลับเข้าไปในคณะจิตรกรรมอีกครั้ง อาจารย์ศิลป์ก็ยังคงยืนอยู่ที่เดิมท่ามกลางบรรยากาศที่เหงาจับใจ ผมยอมรับว่าไม่เคยเห็นคณะจิตรกรรมเงียบเหงาไร้ผู้คน ไร้ชีวิตชีวาแบบนี้มาก่อน ไม่มีคนอยู่ทำงานศิลปะ ไม่มีเสียงสนุกเฮฮาล้อมวงเหมือนที่เคยเป็น ไม่มีอาจารย์ ไม่มีรุ่นพี่ ไม่มีรุ่นน้อง ไม่มีป้าทำความสะอาด ไม่มีลุงยาม ไม่มีกระทั่งหมาสักตัวที่เคยเห็นและคุ้นเคย มีแต่โต๊ะอันว่างเปล่า มีแต่ตึกที่ถูกปิดไร้คนอาศัย มีเพียงเศษดอกไม้และใบไม้ที่ร่วงหล่นอย่างหนาแน่นรอบรูปเคารพของอาจารย์ศิลป์ ผมมองไปยังฐานของรูปปั้นเห็นคำว่า พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว คำ ๆ นี้ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม แล้วได้ผุดขึ้นมาจากความทรงจำลึกๆก้องกังวานอยู่ในจิตใจนี้อีกครั้ง ผมไม่รู้ว่าเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจหรือหดหู่ใจกันแน่ ที่ผมได้กลับมาเห็น กลับมายืนอยู่ตรงนี้ที่ๆผมเคยอยู่ แล้วมองเห็นรอบรูปเคารพของท่าน มองเห็นลานอาจารย์ศิลป์ที่เคยผูกพันร้างลาจากผู้คน
                ท้ายที่สุดนี้ผมอาจจะไม่เคยได้เห็นตัวจริงของอาจารย์ศิลป์ ไม่เคยได้ร่ำเรียนกับท่าน แถมตัวผมเองยังเป็นศิษย์รุ่นเหลนนอกรีดที่ไม่เชื่อในคำพูดหลายๆคำของท่านที่เกี่ยวกับศิลปะและชีวิต แต่ผมเชื่อในคุณค่าความดีงาม ความจริงใจในการทำงานและการสอนศิลปะของท่าน ผมเชื่อว่าอาจารย์ศิลป์คือมนุษย์ที่ควรค่าแก่การไหว้การเคารพของลูกศิษย์ทุกๆคน กรรมใดที่ผมประกอบขึ้นในฐานะของคนที่ทำงานศิลปะ เพียงเพื่อบำบัดทุกข์และค้นหาสัจจะของชีวิต กระทำขึ้นด้วยจิตอันบริสุทธิ์ปราศจากความทะเยอทะยาน คุณค่าความดีงามเพียงเล็กน้อยนี้ผมขออุทิศให้กับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ร่วงลับและกำลังจะเลือนหาย
               
วันวาน วันก่อน วันนี้
โดย: อ่อมทิพย์
_______________________________________________________________

เมื่อวันวาน... 
เก้าอี้ตัวยาวสีเขียวที่ผมและเพื่อนได้นั่งมองดูรูปปั้นฝรั่งที่ยืนสง่าอยู่หน้าลานของคณะจิตกรรมฯ พร้อมกับคำถามว่า ฝรั่งคนนี้เป็นใคร ทำไมที่นี่ถึงมีอนุสาวรีย์ฝรั่ง?นั่นเป็นการรู้จักท่านครั้งแรกพร้อมด้วยความโง่เขลา

เมื่อเข้ามาในสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง...
ผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นศิษย์รุ่นที่ห้าสิบแปด ก็ยังนับว่าห่างไกลยิ่งที่จะได้มีโอกาส ร่ำเรียนและสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้เป็นจิตวิญญาณของศิลปะสถานแห่งนี้  ครั้งหนึ่งภายใต้จิตสำนึก ผม และเพื่อนๆกำลังนั่งเขียนรูปและคุยกันอยู่ข้างๆของอนุสาวรีย์ตรงหน้าลานคณะจิตรกรรมฯ จู่ๆก็มีชายคนหนึ่ง รูปร่างสันทัดท่าทางใจดี สวมเสื้อผ้าสีกากี เดินเข้ามาหยุดอยู่ตรงหน้า พร้อมกับพูดว่า...
นายๆขยันๆ หน่อยสินาย อย่าขี้เกียจ
ผมหันไปมองตามเสียงของชายผู้นั้นซึ่งเป็นบุคคลคนๆเดียวกันกับอนุสาวรีย์ อาจารย์ศิลป์!!” ผมอุทานพลันตื่นขึ้นในเวลาเดียวกัน ด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นเสมือนหนึ่งได้พบกับอาจารย์ศิลป์ในโลกแห่งความจริง ทำให้ผมยังคงสามารถจดจำเหตุการณ์ในคืนนั้นได้จนถึงทุกวันนี้

เมื่อวันนี้ยังดำเนินอยู่...
        เก้าอี้ตัวยาวตัวเดิมสีเขียวหน้าคณะฯ ผมและเพื่อนก็ยังคงนั่งมองดูรูปปั้นของท่านอาจารย์ศิลป์ที่คุ้นตาด้วยความรู้สึกที่สำนึกในพระคุณของท่าน แม้ว่าจะไม่เคยได้พบหรือเรียนกับท่านครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม   ทุกครั้งที่ทำงานศิลปะ ผมยังคงรู้สึกอบอุ่นประดุจว่า อาจารย์ศิลป์ท่านยังคงเฝ้ามองดูพวกเราเหล่าลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอ  แม้ว่าตัวท่านจะจากไปนานแล้วก็ตาม

               ด้วยความระลึกในพระคุณ.


งามไทยในเทศ
โดย: เทอร่า
_______________________________________________________________
 “...ศิลปะสุโขทัยก่อรูปขึ้นเมื่อศิลปะสุโขทัยหันไปพิจารณาธรรมชาติอย่างถ้วนถี่ และศึกษาเพื่อที่จะคิดฝัน ทำแบบอย่างพระพุทธรูปอันงดงามในอุดมคติต่อไป คนไทยเข้าใจดีถึงคำว่าลอกเลียนแบบธรรมชาตินั้นมิใช่การสร้างสรรค์ศิลปะ ดังนี้จึงกล่าวได้ว่า งานสุโขทัยก่อกำเนิดขึ้นด้วยการเข้าใจธรรมชาติอย่างแจ่มแจ้งนั่นเอง...” 
นี่คือทัศนะของ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีต่อศิลปะไทยสมัยสุโขทัย จะเห็นได้ว่าท่านนั้นมีทัศนะคติที่เปิดกว้างพร้อมทั้งยังเข้าใจในหัวใจของศิลปะไทยได้อย่างลึกซึ้ง อาจจะมากกว่าคนไทยหัวดำอย่างเราทั้งหลายด้วยซ้ำ หลายครั้งที่พวกเรามักจะลืมรากแห่งตนไปชั่วขณะ หลายคนหลงวัฒนธรรมตะวันตก หรือบางทีอาจเป็นเพราะรสชาติของบ้านเรานั้นมันไม่เร้าจิต จึงพยายามขวนขวายสรรหารสชาติแบบแปลกใหม่มาลิ้มลองกันแบบผิด ๆ ถูก ๆ
เราทั้งหลายคงทราบดีว่าท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คือฝรั่ง แต่การที่ท่านได้ย่างก้าวเข้ามาในสยามเรานั้น ท่านนำเอาศิลปะตะวันตกมาสู่ศิลปะไทยที่มีแบบแผนแบบดั้งเดิม ก่อให้เกิดผลยังความเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะในสยามประเทศเรา ท่านได้นำรสชาติศิลปะตะวันตกมาให้เรา ๆ นั้นได้ลิ้มลองและเข้าถึงรสนั้นได้อย่างถ่องแท้จนหลายคนแสดงออกได้ไม่แพ้ฝรั่งชาติใด พร้อมกันนั้นท่านก็เข้าถึงศิลปะไทย อย่างยากที่คนไทยทั้งหลายจะเข้าสัมผัสถึงเช่นกัน
ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวชมว่า
“...วัดสุทัศน์เป็นวัดที่มีแผนผังงามที่สุดของสถาปัตยกรรมไทยยุครัตนโกสินทร์นี้...”
เชื่อว่าเราอาจจะเคยผ่านเสาชิงช้า เข้าออกวัดสุทัศน์มาไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่คนที่เพ่งพินิจพิเคราะห์ออกมาได้อย่างท่าน เพราะวัดสุทัศน์นั้นได้วางแปลนแผนผังถอดแบบมาจากคติไตรภูมิล้วนๆ ซึ่งวัดสุทัศน์ตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งสำคัญที่ใจกลางพระนครพอดี ตามคติโบราณแล้วควรเป็นที่ตั้งของพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล
เขตพุทธาวาสของวัดสุทัศน์ประกอบด้วยสองบริเวณหลักซึ่งได้รับการวางผังและจัดองค์ประกอบอย่างรอบคอบ ให้มีความสัมพันธ์กัน บริเวณแรกประกอบด้วยพระวิหารหลวงตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ล้อมรอบด้วยลานประทักษิณกว้างและพระระเบียง ส่วนอีกบริเวณหนึ่งมีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วตั้งขวางอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารหลวงภายนอกพระระเบียงออกไป พระวิหารหลวงวางตัวตามแนวเหนือใต้ ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ตามแนวที่ตั้งได้ฉากกับแนวแกนของพระวิหารหลวงที่จุดกึ่งกลางพอดี และหันหน้าสู่ทิศตะวันออก ซึ่งเมื่อเรามองมุมตรงด้านหน้าวัดจากระยะไกล ๆ จะเห็นพระวิหารหลวงตั้งเด่นเป็นตระหง่านโดยล้อมรอบด้วยพระระเบียงลดหลั่นลงมาทั้งยังมีพระอุโบสถตั้งขวางเป็นฉากหลัง ส่งให้พระวิหารหลวงอวดทรวดทรงโอ่อ่าออกมาได้อย่างงดงามหาที่ใดเปรียบ
จากการเข้าใจในภูมิสถาปัตกรรมแบบไทยถึงขนาดจับจิตของคนต่างบ้านต่างเมืองอย่างอาจารย์ศิลป์นั้น นับว่าท่านไม่เคยหยุดที่จะลิ้มรสศิลปะทั้งยังเข้าถึงรสชาติแบบละเมียดเป็นที่สุด
 “มนุษย์ยิ่งสามารถเข้าถึงเรื่องของจิตใจและพุทธิปัญญาได้มากเพียงใด วิญญาณของมนุษย์ก็จะยิ่งลอยพุ่งขึ้นไป ณ แดนบริสุทธิ์ได้สูงเพียงนั้น”
นี่คือคำจากบทความ การเข้าถึงศิลปะ ซึ่งเป็นของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เราคงไม่ต้องบรรยายว่าวิญญาณของท่านนั้นอยู่ ณ ที่แห่งใด.

อาจารย์ศิลป์ของผม
โดย: อามสตรอง
_______________________________________________________________

...ก่อนที่จะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร
ผมเดินเข้ามาไหว้รูปปั้นที่หน้าคณะจิตรกรรม
โดยนำพวงมาลัยดอกมะลิมาสักการะ
ตอนนั้น...
ผมรู้แค่ว่า
รูปปั้นที่ยืนอยู่ตรงหน้าผมเป็นชาวฝรั่งที่เป็นคนก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบันผมจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
และทำงานศิลปะตามที่ อ.ศิลป์ได้กล่าวไว้ว่า

 "ถ้านายคิดถึงฉัน นายทำงาน..."

ทุกวันสำคัญๆ
ผมยังนำพวงมาลัยดอกมะลิมาสักการะรูปปั้นชาวฝรั่ง 
ที่ชื่อ...

อ.ศิลป์ พีระศรี


เรื่องศิลปะเฉพาะตัวของเรา
โดย: มุกหอม
_______________________________________________________________

ถ้าจะกล่าวถึงสถานบันสอนศิลปะใด เก่าแก่ และทรงคุณค่าในจิตใจ ของเราคงมีเพียง หนึ่ง เดียวคือ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีรากฐานที่ดีจากการวางไว้โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาเลียน ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ ทักษะทางศิลปะไว้อย่างเข้มข้นทั้งแนวความคิดและหลักการเรียนการสอนที่เป็น Academic
ส่งผลสืบทอดจาก อ.ศิลป์ จากรุ่นสู่รุ่นส่งแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ต่อลูกศิษย์มานานแสนนานจวบจนปัจจุบันการ และอีกยาวไกลในอนาคตเราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีสายเลือดของคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร อย่างเข้มข้น
ตั้งแต่เด็กก็ชอบศิลปะ จนกระทั่งเข้าเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์เพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานของศิลปะในหลาย ๆ แขนงให้เข้าใจ สามารถทำงานศิลปะได้อย่างฝัน ความปรารถนาที่จะเข้าศึกษาด้านศิลปะคือ  คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ศึกษาเล่าเรียนจากอาจารย์ผู้สอนและได้ ฝึกฝน ความรู้ความคิด และการสร้างสรรค์ศิลปะจากระดับปริญญาตรีจวบตนปริญญาโท
ถ้าเปรียบเทียบถึงศิลปะคืออะไรใน ชีวิตตอบได้เลยว่าศิลปะคือส่วนหนึ่งในชีวิตเป็นเลือดเนื้อและเป็นความคิดส่วนสำคัญของร่างกายเราไปแล้ว.


สารแด่อาจารย์ศิลป์
โดย: เพียงเฮาหมู่
_______________________________________________________________

                รูปปั้นที่ตระหง่านอย่างน่าเกรงขามในภาพอันอบอุ่นของกลุ่มชายหัวเกรียนกับกลุ่มผู้หญิงผมแปลก ถูกบันทึกรวมกันเมื่อครั้งวันแรกที่ได้ถูกยอมรับเป็นรุ่นน้องของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อปีพ.ศ. 2544 เป็นภาพแห่งความใฝ่ฝันกับความประทับใจเล็ก ๆ ที่ศิษย์รุ่นหลังมากอย่างผมได้มีเก็บไว้ 
                กระทั่งเมื่อจบการศึกษา ลักษณะทางกายภาพของกลุ่มคนในภาพเปลี่ยนไป บางคนหายไป บางคนยืนนิ่งเนียนดั่งผู้สำเร็จการศึกษาพร้อมพวกพ้องทั้ง ๆ ที่ยัง...
                แต่รูปปั้นด้านหลังไม่เปลี่ยนแปลงเลย น่าเกรงขาม และเปี่ยมศรัทธาจากคนหลายรุ่น...
                ...ท่านคือผู้ให้
                มีเพียงคำบอกเล่ากับการศึกษาประวัติของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จากหนังสือที่ทำให้ผมรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท่าน โดยเฉพาะหนังสือ "อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์" ของสำนักวิจัย ศิลป์ พีระศรี ที่ผมได้รับมา นับเป็นของขวัญที่สำคัญยิ่ง (สำหรับผมลำพังนักศึกษาปี 1 คงไม่มีปัญญาซื้อหนังสือเล่มละ 500 บาทมาเก็บไว้แน่ในตอนนั้น) เนื้อหาด้านในที่ผู้อาวุโสหลายท่านได้เขียนถึงความในใจ ความผูกพัน ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ช่างซาบซึ้งมาก คำพูด คำสั่งสอนของอาจารย์ศิลป์ ได้ถูกบันทึกไว้ผ่านความทรงจำ ผ่านการสอน ว่ากล่าวตักเตือนจากอาจารย์ รุ่นอาวุโส และปัจจุบัน เหมือนสารศักดิ์สิทธ์ที่ฝากไว้สู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป
                ตัวผมรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำได้อย่างคนรุ่นก่อน เสียดายโอกาสที่เคยได้รับ อับอาย ต่อตนเอง ละเลยหน้าที่ เหลวไหล
                พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว
                ผมขอยกบทความตอนหนึ่งในหน้าสุดท้ายของปกหลังด้านในหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น

                ศิลปินมีความประหลาด มีข้อบกพร่อง และมีคุณสมบัติต่างๆเหมือนกับมนุษย์ทั้งหลายทั่วๆไป แต่ศิลปินได้รับความรู้สึกที่ไวยิ่งกว่า และมีลักษณะส่วนตัวมากกว่า ศิลปินบางคนช่างคิดฝัน บางคนอารมณ์ร้าย บางคนตลกโปกฮา บางคนเป็นนักเยาะเย้ย กระทบกระเทียบ บางคนขมขื่น และอิจฉาตาร้อน บ้างก็เป็นคนเปิดเผย ใช้เงินหมดทุกสตางค์จนเกินรายได้ และบางคนก็งกเงิน
(ศิลป์ พีระศรี: อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์)

         ศิลป์ พีระศรี ในทัศนของผมในบทนี้ ท่านได้กล่าวไว้เพื่อเตือนสติ สติในความเป็นปกติชนของคนทำงานศิลปะ เพื่อปรามความบิดเบือนแห่งยุคสมัย ชีวิตอันเปล่าเปลือย ปัญหาชีวิต เครดิตกับเวลา และปัจจัยแห่งการดำรงอยู่จะไม่มีอิทธิพลในบทบาทของข้ออ้างอีกต่อไป ถ้าหากผมทำงาน ทำงาน ทำงานศิลปะ ทำงานศิลปะ ศิลปะคงทำให้ผมเป็นคนในกลุ่มนั้นได้อย่างเต็มบทบาทและภาคภูมิ...
                ...ผมจะซ่อมมัน.



ถามถึงทางที่แท้
                                โดย: ไดซอร์กุ๊ก

๏ยังหนาวเหน็บเนื้ออยู่เนืองเนือง
แม้นเมืองหมกไหม้องศาสูง
ใจยังเปียกยับเกินจับจูง
เกินจับจูงใจจากความเป็นจริง

๏ไถ่ถามทางเท้ายาวกว่าย่าง
ที่เห็นเร้นรางเหมือนสางสิง
ทั้งรู้ที่รักคอยทักติง
แต่ใจยังยิ่งยะยวบโยน

๏หวั่นไหวในรักมรรควิถี
เพราะคือวิธีที่ผาดโผน
ป้องปากป่าวหู่กู่ตะโกน
ไหนแท้ทางโทนจะเทียบทวน

๏ไถ่ถามหนทางซึ่งหลากสาย
รักมี-หรือม่ายความหมายหวน
ได้เดินด้วยฝันอันหอมอวล
หรือด้วยเพราะตรวนจำตรอมใจ.๚๛
  
จำนรรจ์จากนกรัก
โดย: ไดซอร์กุ๊ก

๏เมาสร่างเมื่อสายมรสุม
ที่ดินเอิบอุ้มเม็ดน้ำอิ่ม
ที่นกผกเช้าได้ลิ้มชิม
ปริ่มหยาดน้ำค้างสล้างใบ

๏ลัดเลาะสุมทุมโผล่พุ่มพฤกษ์
พรูผลึกน้ำค้างสล้างไหว
จิบจิบเจื้อยแจ้วจำนรรจ์ใจ
ถกถ้อยถามไถ่ถึงคนจร

๏เจ้ารอนคืนร้างมาจากไหน
ฉันตอบใต้แสงตะวันอ่อน
ไยเจ้ายกใจมาย่ำจร
ฉันมาอวยพรในรักเพื่อน

๏จิบจิบเจื้อยแจ้วจำนรรจา
วสันต์-วรรษา ว่าเสมือน
นกน้อยร้อยรักในรังเรือน
เอื้อนอำนวยพรด้วยฝนพรำ ๚๛

พงศาวดารเล่มละบาท
_______________________________________________________________
               
                ภาพที่ดวงตาได้เห็นอยู่นั้นคือโลกที่ขาวโพนเพราะปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่เริ่มละลาย  เท้าสัมผัสกับความเจิ่งนอง นัยตาเหมือนเริ่มละลายเช่นกันเพราะชุ่มไปด้วยหยาคน้ำ สัญญาณเตือนแห่งการเดินทางของเวลาเริ่มขึ้นแล้ว
                ตอนนี้ดวงตาคู่เดิมกำลังมองหินปูนที่เกาะโลก กำลังไชรากลงไป นี้คือภาพสวรรค์ของอดีต ดินแดนแห่งความสะดวกสบาย แต่นัยตายังคงถูกความร้อนที่เพิ่มขึ้นภายในหลอมละลายเช่นเดิม ขณะเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่นี้ รอบตัวทุกอย่างมีป้ายราคา เมื่อลองก้มมองตนเองก็พบป้ายราคาเก่ายู่ยี่เหลืองกรอบ ผมเลยดึงมันทิ้ง ทั้งที่ตอนที่ได้มาผมแย่งกันคนอื่นแทบตาย อาจเป็นเพราะผมกำลังหาป้ายใหม่ก็เป็นได้ ดวงดาวที่มองไม่เห็นทาบมากดทับทำให้เรามองไม่เห็นเงา ผมเห็นไอน้ำระเหยออกจากตัวขึ้นไปสมทบกับเพื่อนที่อยู่ข้างบน ผมมองตาม เห็นไอน้ำจากตัวผมเมื่อวาน เดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว ฯลฯ มากมายของทุกผู้ทุกคนทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกขณะทุกเวลา ขึ้นไปปฏิสัมพันธ์คลุกเคล้าจนสีเริ่มเข้มขึ้นเรื่อยๆจนใกล้ที่จะพร้อมจะกระโจนลงมา
                รอยเกวียนรอยเก่ายังอยู่ แต่เริ่มเลือนรางตามเวลา จารึกหลักศิลาต่างๆร่วงหล่นแตกหักเกลื่อนดิน ยอดนพศูทรที่เคยอยู่บนยอดพระปรางค์จมดิน ส่วนร่างของปรางค์นั้นอันตธานไปแล้ว ลมเย็นวูบหนึ่งวิ่งผ่าน ผมเห็นมันวิ่งออกมาจากเซเว่นฯตอนเดินผ่าน ลมเย็นเหล่านั้นวิ่งออกมาบ่อยๆมากขึ้นมากขึ้น
                สีขาวเริ่มก่อตัวเหมือนภาพที่ค่อยๆถูกยางลบ ลบออกไปที่ละน้อย ขี้ยางลบเกลื่อนพื้น ภาพค่อยๆเลือน เหลือเพียงว่างเปล่าขาวโพนกับพื้นที่เต็มไปด้วยขี้ยางลบ สูงขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆๆๆ

                                                           
  นายสดานุ   สุขเกษม(ดานุ)
_______________________________________________________________

ร่ำรำพัน
ผมใช้ความรู้สึกเขียนมันขึ้นมา   ท่านก็จงใช้ความรู้สึกในการอ่าน
มิได้หวังผลแห่งการเขียน
ขอให้มันเป็นลมที่พัดมาแล้วท่านสัมผัสกับมัน
แล้วปล่อยให้มันลอยต่อไปสู่มวลชน....
.
วันหนึ่ง   วันที่เสียงเพลงของโมซาทร์ดังขึ้นท่ามกลางรถที่วิ่งยุ่งเหยิง
บนท้องถนนที่วุ่นวาย
ทั้งสามล้อม  รถมากมาย   คนนอนตายหงายท้อง
พระศิวะออกมาเต้นระบำรำฟ้อนกับทวยเทวา
ไฉนเลยกลับมองคนนอนไร้ชีวิต   ด้วยเย็นชา
๒.
เธอไม่เห็นว่าเธอกำลังเดินอยู่บนความตาย
ด้วยทอดกายผ่านลมหนาว
ผ่าน  ฟ้า  เดือนดาว  ฝน  ของคนสังกะสี
เดือดดาล   เปาะแปะ    เฉอะแฉะ
รูรั่วแห่งสังกะสี   ชวนให้ฝันดึงดวงดาวในคืนปุรณิมา
น้ำไหลหลาก  เป็นทางสายยาวโยงกับกระป๋องเบื้องล่าง
ดูทางฝันของเธอจะยาวกว่าใครๆในหมู่บ้าน
หมู่บ้านสังกะสี.....สีสนิม

๓.
ความโดดเดี่ยว   จะทำให้เราพบกัน
   พื้นที่   ที่มิได้ออกแบบด้วยสถาปนิก
กำกับด้วยมาตราส่วนของความรู้สึก
แสงไฟสีดำมืดประดับประดาบนเพดานอันอ้างว้าง
เธอสามารถมองดวงดาวที่ประดับใจของเธอทุกชั่วกาล
เธอจงอย่าลืมว่าเธอคือผู้ที่อยู่บนโลก
เธอมิได้อยู่ในโลก
เธอสามารถบันดาลสิ่งต่างๆได้  ด้วยตัวเอง
แม้กาลเวลาจะเลยลับไปนาน
จนลืมสิ่งซึ่งมีความหมายของเธอก็ตาม
วันที่พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า
ดวงดาราและจันทรากำลังจะมาแทน
   จุดที่เธอซึ่งกำลังยืนอยู่
สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เรามาพบกัน    ที่แห่งนี้
๔.
ฉันเห็นว่าเธอกำลังยืนงงกับความรู้สึกของตัวเอง      ที่สีเทาดำ
เธอจึงมิอาจมองเห็นสิ่งซึ่งสว่างอยู่เบื้องหน้าเธอได้
ด้วยเธอมิเคยเปิดใจสู่อากาศเบื้องหน้า
แต่เธอกลับหันหลังแล้วหลับตา  คร่ำครวญ
การสนทนากับความมืด
ความมืดมักพูดกับเธอว่าจงอยู่กับฉัน
แล้วลืมสิ่งเหล่านั้นเสีย
ความสบายจึงทำให้เธอลืมตัวไปว่าเธอคือแสงสว่าง
ถ้าเธอคือนึ่งเดียวแล้ว   เธอจะต้องกลัวสิ่งใดเล่า
แต่กลับไม่เคยมองเห็นมัน
๕.
มันเป็นพื้นที่ที่แปลกความรู้สึก
เมื่อเราสัมผัสมันด้วยกายครั้งแรกที่พานพบ
วันเวลาเดินไปอย่างช้าๆ
พร้อมกับเสียงของตัวเอง
ที่กำลังตะโกนอย่างสุดเสียง  ทุกเวลา
สายนทีมิอาจจะชากความรู้สึกเหล่านั้น
ด้วยว่าเราไม่ต้องการ
ด้วยว่าเราไม่ปล่อยใจให้ละลายไปตามสายนที
ยมุนา   คงคา   ก็ไม่เคลื่อนไหว
ทุกสิ่งหยุดนิ่งรอรับเธอมาสู่ที่นี้
ผู้คนมากมายยืนตบมือรอรับเธอ
กับท้องฟ้าส้มอมน้ำเงิน
ดวงสุริยาน้อมคำนับเธออย่างสรรเสริญ
     ที่แห่งนี้   ที่เป็นอมตะจิต



กระจกฝ้า
_____________________________________________________________
“คนงงหลงไคว่คว้า        จูบเงา
สุขก็เพียงฉายา            แห่งสุข”
                พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว แปลความจากบทประพันธ์ของ วิลเลียม  เชคสเปียร์
                ทุกครั้งที่ลืมตาขึ้นแสงก็นำพาการรับรู้ต่างๆมาพบเราให้เราสัมผัส  สิ่งที่เห็นเข้ากระทบความคิดตลอด ดวงตาคือหน้าต่างของจิตใจเห็นจะจริง หน้าต่างนั้นเปิดตลอดเวลาแม้ยามหลับตา ลมกรรโชก พายุฝนซาดซัด แสงแดดแผดเผา  หน้าต่างก็ไม่ปิด  พื้นบริเวณนั้นเต็มไปด้วยร่องรอยผ่านของเวลา สีเริ่มซีดจางแตกร่อนผุพัง  ผมยืนมองออกไปที่หน้าต่าง  ไกลออกไปนั้นเมฆเริ่มตั้งเค้ามืดดำเป็นสัญญาณแห่งพายุร้าย              ผมถอยหลังพยายามหนีแต่ก็ชนเข้ากับพนัง เมื่อมองไปรอบๆพนังนั้นห่างจากตัวผมทุกด้านไม่เกินหนึ่งฝ่ามือ  คงจะหลบเลี่ยงอีกไม่ได้แล้ว  เบื้องหลังกลุ่มเมฆนั้นมีฝูงนกบินวนเวียน  ทัศนียภาพอันงดงามนั้นทำให้ผมหลงลืมสถานการณ์ปัจจุบันชั่วขณะ  ผมพยายามบันทึกภาพนั้นไว้ในความทรงจำอย่างละเอียดที่สุด  แต่ยิ่งพยายามกลับทำให้มันเลือนราง  เหมือนภาพสีถ่านที่ยิ่งลูบคลำยิ่งหลุดร่วงเลือนราง  หลังจากนั้นบางครั้งผมพยายามนึกถึงกลับพบแต่ความว่างเปล่ากับคราบความรู้สึกขณะนั้น  บางครั้งผมก็เขียนความทรงจำปลอมบันทึกไว้ในสมองหลอกตัวเอง  ตอนนี้ผมกำลังยืนอยู่ที่หน้าต่างมองออกไป  ไม่รู้ว่าเป็นวันนี้พรุ่งนี้หรือเมื่อวาน  ไม่รู้ว่าผมเคยเห็นภาพที่อยู่ตรงหน้ามาก่อนหรือไม่  ผมทำได้เพียงยิ้มออกมา


"จดหมายถึงอาจารย์ศิลป์"  
โดยศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมรุ่น 58
ผู้เขียน  : สุริยะ  ฉายะเจริญ
             วีรพงษ์  ศรีตระกูลกิจการ
             เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์
             ปรานต์  ชาญโลหะ
             เจตนิพัทธ์  ธาตุไพบูลย์
             อนุรักษ์  ชัยคงสถิตย์
             เรวัต  รูปศรี
             ฉายดนัย  ศิริวงศ์
             ธนาพัทธ์  มูลกันทา
             ภักดี   ไชยหัด
             สดานุ  สุขเกษม